ปราสาทสด๊กก๊อกธม ศึกษาอารายธรรมขอม ปราสาทหินทรายบนชายขอบบูรพา
นับจากเส้นกั้นพรมแดน ชายแดนไทย-กัมพูชา เข้ามาไม่เกิน 3 กิโลเมตร ในบริเวณพื้นที่อำเภอโคกสูงอันเป็นที่ตั้งของ“ปราสาทสด๊กก๊อกธม” ปราสาทหินที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดสระแก้ว แค่ชื่อก็อาจจะฟังแปลกหูไปบ้างเพราะเป็นคำในภาษาขะแมร์ แปลว่า “เมืองใหญ่ที่มีต้นกกขึ้นรก” แต่ถ้าเป็นตามหลักฐานที่ปรากฏในศิลาจารึกที่พบบริเวณรอบปราสาทนั้น ปราสาทแห่งนี้จะมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ปราสาทเมืองพร้าว” ตามคำบอกเล่าของคนโบราณที่หลงป่าเข้ามาแล้วพบเห็นต้นมะพร้าวในบริเวณนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งความน่าสนใจของตัวปราสาทยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ เราจึงมุ่งหน้าสู่ดินแดนชายขอบบูรพา เพื่อย้อนรอยไปชมดินแดนสมัยที่อารายธรรมขอมยังรุ่งเรืองให้เห็นกับตา
ถ้าเป็นเมื่อ 10 ปี ก่อน การเข้ามายังพื้นที่บริเวณนี้คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ทั้งเรื่องเส้นทางการเดินทางที่ยังไม่สะดวกนัก ตัวปราสาทที่ยังคงทรุดโทรม ไร้ซึ่งหน่วยงานเข้ามาบูรณะ รวมถึงพื้นที่ในแถบนี้ยังถือเป็นจุดอ่อนไหวของการปักปันดินแดน จึงมีน้อยคนนักที่จะได้รู้จักกับ“ปราสาทสด๊กก๊อกธม” แห่งนี้ แต่ในปัจจุบันปราสาทสด๊กก๊อกธมอยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร จึงได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ด้วยวิธีการที่เรียกว่า “อนัสติโลซิส” ซึ่งเป็นการใช้วัสดุเดิม นำกลับไปวางในตำแหน่งเดิมโดยใช้วิธีการก่อสร้างแบบดั้งเดิม เพื่อให้ตัวปราสาทคงความสมบูรณ์ตามรูปแบบเดิมมากที่สุด ถ้าใครที่เคยแวะเวียนไปเยี่ยมชมปราสาทสด๊กก๊อกธมเหมือนหลายปีก่อน คงจะเห็นความเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจนเลยทีเดียว ถึงแม้ว่าปัจจุบันตัวปราสาทจะอยู่ในระหว่างการบูรณะ แต่ก็เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้เพราะใกล้จะเสร็จสมบูรณ์เต็มทีแล้ว ตามหลักฐานที่ค้นพบ ปราสาทสด๊กก๊อกธม สร้างขึ้นราวปลายพุทธศตวรรษที่ 15-16 จัดเป็นศาสนสถานฮินดู ที่สร้างขึ้นตามลักษณะศิลปะเขมรแบบคลับต่อบาปวน ผังของปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ซึ่งมี “บาราย” หรือ หนองน้ำขนาดใหญ่อยู่ด้านหน้า ถูกเชื่อมต่อด้วย “สะพานสายรุ้ง” ตามคติความเชื่อที่ถือว่าเป็นทางเดินสู่สรวงสวรรค์ สองข้างจะประดับด้วย“เสานางเรียง” พอผ่านซุ้มประตู “โคปุระ” เข้าไปแล้ว จะพบสปเป็นอาคารระเบียงคดระน้ำล้อมรอบปราสาทชั้นในไว้
ถัดไปเป็นอาคารระเบียงคดที่สร้างจากหินทรายและศิลาแลง พอเราก้าวผ่านระเบียงคดเข้าไปแล้ว ก็จะเห็นปราสาทใหญ่ตรงกลางเป็นปรางค์ประธาน ภายในประดิษฐาน “แท่นหินศิวลึงค์” และ “ฐานโยนี” ตามคติความเชื่อการกำเนิดโลกตามศาสนาฮินดู ส่วนด้านข้างตามแนวเหนือ-ใต้ มี “บรรณาลัย” อีก 2 หลัง ในช่วงปีพุทธศักราช 1480 ซึ่งตรงกับสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 สถานที่แห่งนี้ถูกใช้ให้เป็นศาสนสถานสำคัญในการบูชาเทวรูปศิวลึงค์ และรูปเคารพด้านในเท่านั้น ดังนั้นถ้าเราเดินชมไปรอบๆ ปราสาท เราจะสังเกตเห็นลวดลายแกะสลักบนหินทรายเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ พระศิวะ พระนารายณ์ อยู่ตามซุ้มประตูต่างๆ ซึ่งบางส่วนก็อาจถูกแซมด้วยหินทรายก้อนใหม่เพื่อให้โครงสร้างตัวปราสาทเป็นรูปเป็นร่างที่สมบูรณ์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้