Search and share travel destinations and experiences in Thailand Sign up Log in
 
ยอยักษ์ ตักตะวัน ทะเลน้อย ควายน้ำ นกอพยพ ต้นลำพู – พัทลุง ทะเลน้อย-พัทลุง (Noi Sea-Phatthalung) จ.พัทลุง
    • Posts-1
    พิรุณ •  March 29 , 2016

    เหตุการณ์ และความคิดก่อนหน้า

    พัทลุงไม่ใช่จุดหมายหลักที่ผมออกเดินทางครั้งนี้ด้วยซ้ำ เป็นสุราษฎร์ธานี (เขื่อนเชี่ยวหลาน) ต่างหากที่ผมเล็งไว้เป็นจุดหมายหลัก แต่ความประทับใจที่พัทลุงนั้นกลับมากกว่า คงเป็นเพราะโชคดีที่ได้เจอที่พักที่ดี ผู้คนที่ได้เจอ สถานที่สวยงาม (จริง ๆ ที่สุราษผมก็เจอน้องที่ขี่รถมอเตอร์ไซค์รุ่นเดียวกับผม ยืนคุยกันอยู่นาน ซึ่งเป็นเรื่องน่าประทับใจด้วยเช่นกัน แต่อาจจะเพราะผมไม่ค่อยได้ภาพถ่ายตามที่หวังไว้เท่าไหร่ พูดง่าย ๆ ผิดหวังแล้วพาล -.-)

    DSC_5278 มีนาคม 24, 2559ท่าเรือตรงแถวที่พัก กับวิวยามเย็นที่ดูสงบ

    หลังจากตัดสินใจว่าจะจบภาระกิจที่เชี่ยวหลานแล้ว (24 มีนาคม 2559) ก็เหลือทางเลือก 2 ทางคือ กลับกรุงเทพ หรือจะไปต่อ ณ ตอนนั้นสำหรับทางเลือกไปต่อก็มีจังหวัดที่สนใจจะไปดังนี้

    • พังงา – เพื่อไปชมสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ “เสม็ดนางชี”
    • กระบี่ – ไปไหว้ลูกพี่ลูกน้อง
    • ระนอง – เหมือนเดินทางกลับแต่แวะไปเยี่ยมแม่เพื่อนที่เคยให้ที่พักค้างคืนในการเดินทางไปภูเก็ตเมื่อเดือนก่อน
    • อื่น ๆ – ที่ไหนดี ไม่ได้วางแผนไว้ และเพราะเป็นคนที่วางแผนไม่กำหนดตายตัว จึงมักมีตัวเลือกนี้เกิดได้เสมอ

    และ พัทลุง ก็คือตัวเลือก อื่น ๆ นั้นเอง ที่สนใจที่นี่เพราะเคยเห็นภาพของเพื่อนใน Facebook ที่ถึงจะแทบไม่ได้คุยกัน แต่ก็รับรู้ได้ว่าที่พัทลุงนั้นมีสถานที่น่าสนใจมาก ๆ อยู่ ซึ่งเป็นภูมิประเทศที่มีลักษณะเฉพาะ สัตว์ที่อยู่ที่นี่ก็มีความหลากหลาย และแปลกหู แปลกใจ ร่วมไปถึงวิถีชีวิตที่อยู่ร่วมกับยอยักษ์

    สนใจ ติดต่องานถ่ายภาพ หรือเดินทางถ่ายรูปแบบลุย ๆ ด้วยกัน ยินดีครับ ติดต่อได้ที่ Facebook ส่วนตัวของผมได้เลยครับ https://www.facebook.com/fasndee

    • Posts-2
    พิรุณ •  March 29 , 2016

    เริ่มเดินทาง

    DSC_5210 มีนาคม 24, 2559เหล่ายอยักษ์ในช่วงเย็น ซึ่งไม่ใช่ช่วงที่เราเห็นบ่อยนัก เพราะส่วนใหญ่จะถ่ายภาพยอยักษ์กันช่วงเช้า

    ว่าแล้วก็ต้องหาที่พักกันก่อน จะพักที่ไหนดี ผมมีงบจำกัด แถมการเดินทางรอบนี้ไม่ได้พกเต็นท์มาด้วย จึงมองไปที่โฮมสเตย์ ซึ่งคงเหมาะกับการเดินทางที่ไม่ได้เตรียมตัวมากนักแบบนี้ เพราะโฮมสเตย์จะสามารถแนะนำข้อมูลเชิงลึกของพื้นที่ให้เราได้ดี

    การหาโฮมสเตย์ไม่ยากนัก เพราะผมรู้ดีว่าสถานที่อย่าง “ทะเลน้อย” และ “ยอยักษ์” จะต้องมีโฮมสเตย์ หรือที่พักราคาไม่แพงอยู่จำนวนไม่น้อย แต่ก็หาข้อมูลก่อนออกเดินทางจากเชี่ยวหลานอยู่พักใหญ่จนได้ที่ถูกใจที่นึง นั้นคือ “โฮมสเตย์ ลุงสนั่น” แต่ข้อมูลในเน็ตที่ชม ๆ ที่พักแห่งนี้ กลับไม่มีข้อมูลที่ละเอียดมากนัก ไม่ว่าจะการเดินทางไปถึงที่พัก เบอร์โทรก็ไม่ค่อยมี หรือมีก็เป็นเบอร์ที่ใช้ไม่ได้แล้ว ผมต้องตามหาร่วม 10 กว่าเว็บถึงได้เบอร์ที่ใช้งานได้

    พูดคุยกับลุงเรียบร้อย ถึงการเส้นทางการไปที่พัก และราคา ตอบตกลงกันเสร็จ ผมก็ออกเดินทางจากเชี่ยวหลานด้วยมอเตอร์ไซค์คู่ใจ Yamaha M-Slaz เจ้า 150 cc. คู่ใจ ซึ่งรอบนี้เจ้านี่คงไม่เหนื่อยเท่าไหร่นัก เพราะข้าวของที่เตรียมมาไม่เยอะเหมือนทุกครั้ง ซึ่งมักจะมีเต็นท์ เครื่องนอน และเครื่องครัวอีกนิดหน่อย

    DSC_6483 มีนาคม 25, 2559ถ่าย เจ้า M-Slaz บนถนนเอกชัย ที่ยกตัวเหนือพื้นที่ชุ่มน้ำแถวทะเลน้อย ก่อนจะเดินทางกลับกรุงเทพในวันที่ 25 มีนาคม 2559 ซึ่งตอนกลับก็ประมาณ 18.40 น. ได้แล้ว

    ถนนหนทางลงใต้นั้นมีการทำถนนเป็นช่วงยาว ๆ อยู่หลายจุด ทำให้มีมีการเบี่ยงถนนมาใช้ทางร่วมกันเป็นถนนสองเลนรถวิ่งสวนกัน และมีรถบรรทุกวิ่งตลอด ทำให้ถึงจุดหมายไม่เร็วนัก แต่ผมก็เผื่อเวลาไว้มากแล้ว เพราะรู้อยู่แล้วว่าจะต้องเจอแบบนี้ ซึ่งอย่างที่บอกไปแล้วว่า ข้อมูลการเดินทางไปถึงที่พักนั้นไม่ชัดเจน ถึงจะได้โทรคุยกับลุงสนั่นแล้ว แต่ก็ยังไม่แน่ใจนัก ก็ใช้เวลาหลงอีกประมาณ 10 นาทีได้ ก็ถึงที่พัก ซึ่งตอนที่หลงอยู่นั้น ก็มองเห็นบ้านลุงอยู่ แต่ไม่แน่ใจว่าจะต้องเข้าทางไหน ก็เห็นชายสูงอายุโบกมือเรียกอยู่หลังบ้าน ถึงรู้ว่ามาถูกที่แล้ว

    DSC_5178 มีนาคม 24, 2559บ้าน เรือนไม้ทรงไทยปลูกยกพื้นมีใต้ถุน เรียงติดกันมีทางเชื่อมถึงกัน บางส่วนอยู่ใกล้บ่อน้ำเลี้ยงปลาหน้าบ้าน ร่มเย็น แม้กลางวันในฤดูร้อนก็ยังรู้สึกเย็นสบาย โดยเฉพาะใต้ถุนบ้านเรือนไกลสุดที่ลมพัดเย็นสบายช่วงนอนอย่างยิ่ง

    สำหรับข้อมูลที่พักอย่างละเอียดผมจะเขียนไว้ด้านล่าง ๆ นะครับ ทางลุงสนั่นเองไม่ชินกับเทคโนโลยี ได้คุยกับผม ผมก็ยังพูดถึงการเดินทางมาที่นี่ว่ามีข้อมูลในเน็ตน้อย และไม่ครบถ้วน ทำให้หลายคนต่อให้อยากมาก็อาจจะหมดความอดทนในการหาข้อมูลเสียก่อน ลุงสนั่นก็ไหว้วานให้ผมทำ Page และแนะนำบอกต่อ ซึ่งผมก็ยินดี เพราะเป็นที่พักที่ราคาไม่แถง สะดวก สบาย อีกทั้งลุงมีข้อมูลในพื้นที่ที่เข้าถึง ที่สำคัญ อาหารที่ลุงทำนั้น อร่อยมาก

    DSC_5183 มีนาคม 24, 2559ลุงสนั่นเจ้าของบ้าน หน้าตา ท่าทางใจดี คุยกับผมอยู่พักใหญ่ถึงจุดที่จะพาผมไปถ่ายภาพพรุ่งนี้ก่อนจะพาผมไปดูห้องพักในเรือนหลังนี้

    เก็บข้าวเก็บของในห้องพักเรียบร้อย ลุงสนั่นพูดเหมือนรู้ พูดถึงเสื้อผ้าที่หมกดองเอาไว้ในเป้ตั้งแต่เชี่ยวหลาน พลางเตรียมผงซักผงซักฟอก กะละมัง และถังน้ำ ชี้ให้ผมซักผ้าได้ถ้าต้องการ ซึ่งผมก็จัดแจ้งเอาเสื้อผ้ามาซัก – ตาก ก่อนจะไปอาบน้ำให้ชื่นใจก่อนเดินไปหาที่ถ่ายรูป และสำรวจพื้นที่คร่าว ๆ เผื่อว่าจะได้รู้ตัว เตรียมตัวก่อนถ่ายภาพชุดใหญ่ในเช้าวันพรุ่งนี้

    DSC_5157 มีนาคม 24, 2559ห้องน้ำเปิดประทุนด้วยหลังคามุงเอาไว้ ลมพัดเย็นเวลาอาบน้ำ รู้สึกสดชื่นอย่างบอกไม่ถูก DSC_5150 มีนาคม 24, 2559ตักน้ำจากโอง ถัง กะละมัง ผงซักฟอกเตรียมไว้แล้ว ซักกันแบบนี้ สบายใจบอกไม่ถูก DSC_5151 มีนาคม 24, 2559พื้น ผักรอบบ้านของลุง สามารถเอามาทำอาหารได้ อย่างเจ้าองุ่นป่านี่ก็อยู่ข้างโอ่งซักผ้าด้วยเช่นกัน

    ลุงจัดแจงมอเตอร์ไซค์คันเก่าของลุงบอกให้ผมซ้อนท้าย จะพาไปดูที่ถ่ายรูปในบริเวณใกล้ ๆ บ้าน ซึ่งรถก็เก่ามากแล้ว ขี่ขึ้นเนินแทบไม่ขยับ แต่ลุงก็ยังตั้งใจพาไป ซึ่งที่พักของเราอยู่ใกล้กับจุดถ่ายรูปยอยักษ์ชนิดที่ว่า เดินไปประมาณ 30 ก้าวก็ถึง แต่โดยปกติแล้วการถ่ายยอยักษ์เขาจะเช่าเรือไปถ่ายกันใกล้ ๆ เพราะจได้มุมที่หลากหลายมากกว่า ซึ่งผมไม่คิดอะไรมาก เพราะวันแรกผมกะจะเป็นการเดินดูที่ทางก่อนอยู่แล้ว

    อีกอย่าง ผมไม่กล้าหวังอะไรมากนักกับการถ่ายภาพบนเรือ เพราะที่เชี่ยวหลาน ผมก็ถ่ายภาพบนเรือในช่วงเช้ามืดเช่นกัน ผลก็คือ ภาพที่ได้มาใช้งานไม่ค่อยได้ ด้วยความด้อยประสบการณ์ของผมเอง กับการถ่ายภาพบนเรือยามแสงน้อยเป็นครั้งแรก หวังพึ่งดวง และคิดว่าตัวเองจะสามารถพึ่งพาขาตั้งกล้องได้ ทำให้ภาพออกมาไม่ประทับใจผมเท่าไหร่ ทำให้การมาถ่ายยอยักษ์วันพรุ่งนี้ ผมเตรียมการตั้งค่ากล้องไว้อีกแบบแทน ซึ่งหวังว่าจะได้ผล ถึงไม่ได้ผล ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ ไม่เป็นไร ไม่มีปัญหา

    • Posts-3
    พิรุณ •  March 29, 2016
    • Posts-4
    พิรุณ •  March 29 , 2016

    สะพานข้ามคลองปากประ – จุดถ่ายภาพยอยักษ์

    เป็นจุดที่อยู่ใกล้เหล่ายอยักษ์ ถ้าใครมีเลนส์ทางยาวโฟกัสช่างเทเลก็สามารถยืนถ่ายจากสะพานได้เช่นกัน แต่อย่างที่เกริ่นไว้แล้วแต่แรกว่า ยอยักษ์นิยมถ่ายภาพแสงเช้า เพราะพระอาทิตย์จะขึ้นในทิศทางนั้นพอดี ซึ่งบางภาพถ่ายพระอาทิตย์ดวงกลม ๆ คู่กับยอยักษ์ตอนถูกยกขึ้นมาโดยชาวบ้านเพื่อจับปลา ทำให้พระอาทิตย์ไปดูในยอที่ถูกยก จนหลายคนเรียกภาพเหล่านั้นกันว่า “ตักตะวัน” แต่อย่างไรก็ดี ถึงจะมาช่วงเย็นผมก็นั่งรอดูทำเลไว้ก่อน และก็ถ่ายภาพมาบ้าง ซึ่งจะได้สีฟ้าอ่อน ๆ เข้ม ๆ ก็แล้วแต่ดวง บางวันฟ้าอาจจะเข้มกว่านี้ในช่วงพระอาทิตย์ตกก็น่าจะได้ภาพสวยไปอีกแบบเช่น กัน

    DSC_5200 มีนาคม 24, 2559

    ถ่ายภาพได้สักพักใหญ่ เห็นว่าใกล้ 18.00 น.แล้ว ก็เดินกลับที่พัก เพราะเกรงใจคุณลุงสนั่น เพราะก่อนผมเดินออกมาถ่ายรูป เห็นลุงพูดว่าจะเตรียมอาหารไว้ให้กินพร้อมกัน ซึ่งผมได้ถามว่าปกติลุงกินกันกี่โมง ลุงบอกว่า 5 – 6 โมงก็แล้วแต่ แต่ระหว่างเดินกลับเห็นลุงเดินคล้องกล้องไว้ที่คอ พลางเรียกผมให้มาถ่ายรูปตรงจุดที่ลุงคิดว่าน่าสนใจตรงนั้น จริง ๆ ก็มีอยู่ 2 – 3 จุด แต่ผมชอบจุดนี้ ซึ่งอยู่ห่างจากที่พักแค่ 10 – 20 ก้าวเท่านั้น เป็นท่าเรือที่เช้าวันรุ่งขึ้นผมจะต้องมาอยู่แล้ว

    DSC_5265 มีนาคม 24, 2559

    ท่าเรือที่เช้าวันถัดมาผมจะต้องมาขึ้นเรือตรงจุดนี้เพื่อลัดเลาะไปถ่ายรูปตามสถานที่ต่าง ๆ

    DSC_5267 มีนาคม 24, 2559

    ท่าเรือเดียวกัน แต่มองมาทางขวาจะได้วิวพระอาทิตย์ตกพอดี

    ลุงกับผมยืนถ่ายรูปกันอยู่จนพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า พลางบอกไปว่าไม่ต้องเกรงใจ อย่าเกรงใจ มาอยู่บ้านเดียวกันแล้ว ลุงตอบผมหลังจากผมถามถึงเวลากินข้าวของลุง ลุงบอกว่าแค่นี้ลุงรอได้อยู่แล้ว จะได้กินข้าวด้วยกัน อีกอย่างลุงเป็นคนคุยเก่ง อัธยาศรัยดี เจอใครก็ทัก ก็ถาม และค่อนข้างเป็นที่รู้จัก กล่าวคือ คนอื่นรู้จักลุง ลุงอาจจะไม่รู้จักเขา แต่ก็คุยได้เหมือนสนิทกัน

    ที่คนอื่นรู้จักลุงก็เป็นเพราะว่า โฮมสเตย์ของลุงนั้นมีคนรีวิวชื่นชมไว้มาก ไม่เพียงแค่คนไทย แต่องค์กรใหญ่ ๆ ระดับประเทศของไทยก็แวะมาพักกับลุงกันเยอะ เพราะเป็นการพักในชุมชน ใกล้ชิดชุมชน และลุงรู้แหล่งเที่ยวเยอะ เข้าใจคนถ่ายภาพ ขนาดที่ว่า Thai PBS และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ทีมถ่ายทำเหล่านี้ก็มาพักที่บ้านลุงก่อนหน้าผมแค่ 1 วัน (ที่เชี่ยวหลาน ทีมของ ททท. ก็ไปที่นั้นก่อนหน้าผม เช่า เรือลำเดียวกับผมด้วย เหมือนเขาจะคิดตรงกับผมนะ ว่าหน้าร้อน ต้องมาเที่ยวพวกนี้ 555) ซึ่งนอกจากคนไทยแล้ว ลุงยังเป็นที่รู้จักในต่างประเทศด้วย เพราะลุงพูดอังกฤษ มาเลเซีย จีนก็พูดได้

    ลุงจะมีสมุดเยี่ยมอยู่ 2 เล่ม ไว้ให้ผู้ที่มาพักเขียนจารึกไว้ก่อนกลับบ้าน ซึ่งผมเห็นมีหลายภาษามากในสมุดเล่มนั้น ลุงเคยกล่าวว่าเจอสาววัยรุ่นจีนปั่นจักรยานจากจีนมาถึงแถวนี่ ลุงเกรงว่าจะโดนวัยรุ่นแถวนั้นสร้างปัญหาให้ จึงชวนหล่อนมาพักที่บ้านแทน ซึ่งลุงไม่ได้คิดเงินเลยซักบาทด้วยซ้ำ ลุงบอกว่าเป็นห่วง เป็นอะไรไปมันก็เสียทั้งประเทศ

    DSC_6405-Edit มีนาคม 25, 2559

    สมุดเยี่ยม ที่มีข้อความจากหลายคนหลากภาษา ทั้งบุคคล ทั้งองค์กร ที่เคยมาพักที่นี่ได้เขียนชื่นชมเอาไว้

    เสียดายที่ไม่ได้ถ่ายภาพกับข้าวที่ลุงทำไว้ให้ เพราะเกรงใจลุง ข้าวเติมได้ไม่อั้นรวมในราคาที่พักแล้ว อาหารอร่อย ไม่ใส่ผงชูรส กินแล้วติดใจทั้ง ๆ ที่เป็นกับข้าวที่บางอย่างก็ไม่เคยกินมาก่อน ส่วนใครอยากกินอะไรพิเศษ ลองโทรคุยกับลุงให้เตรียมไว้ให้ก่อนได้ บางอย่างถ้าต้องเพิ่มเงินลุงจะบอก

    อิ่มแล้วก็นั่งเช็ครูปที่ถ่ายไปวันนี้ เตรียมตัวนอน พรุ่งนี้ต้องตื่นแต่เช้า เพราะเรือจะมารับตอน 05.30 น. ห้องน้ำเป็นห้องใหญ่ มีเตียงขนาดใหญ่ 3 เตียง แต่ละเตียงนอนได้ 2 คน หรือจะอัด 3 ก็ยังไม่อืดอัดเกินไป แต่คืนนี้ ทั้งห้องเป็นของผมคนเดียว ห้องเป็นมุ้ง มีพัดลม มีโทรทัศน์ สัญญาณมือถือ True, AIS เข้าถึงเต็มที่ ไฟฟ้าใช้ได้ทั้งวัน แต่ที่นี่ไม่มีบริการ Wi-Fi ลุงใช้ไม่เป็น ส่วนห้องน้ำไม่มีสบู่ ผ้าเช็ดตัว หรือชุดนอนให้ เราต้องเตรียมมาเอง

    DSC_5164 มีนาคม 24, 2559

    ห้อง พักเป็นพัดลม ผมไม่แน่ใจว่ามีห้องแอร์ด้วยไหม ตัวห้องเป็นเรือนไม้โปร่ง ทำให้เย็นสบาย มียุงในช่วงกลางคืน แต่ถ้าเปิดพัดลมมันก็ไม่ค่อยมากวนเท่าไหร่นะ ตอนแรกคิดว่าน่าจะเยอะ แต่ก็มีแค่นิดหน่อยเท่านั้น

    • Posts-5
    พิรุณ •  March 29 , 2016

    เช้าแห่งแสงทอง กับพื้นที่ชุ่มน้ำอันอุดมสมบูรณ์ของไทย - ทะเลน้อย

    ตื่นเช้า อาบน้ำ แปรงฟัน ลุงชวนมากินกาแฟ และขนมลองท้องก่อนออกเดินทาง จะไม่มีอาหารหนัก ใครที่หิวก็พกขนมไปด้วย เพราะเราจะนั่งเรือลุยยาว โดยเฉพาะช่างภาพ หรือนักท่องเที่ยวที่อยากถ่ายภาพมุมโน้นมุมนี่ บอกลุงได้ ลุงกับคนเรือจัดให้ ซึ่งทำให้เราใช้เวลานาน ผมลงเรือ 05.35 น. กว่าจะกลับก็ปาไป 10.00 น.ได้ครับ ถือว่าถูกมากกับค่าเรือ 1500 บาทเมื่อร่วมเวลา ข้อมูล จุดถ่ายภาพที่บางคนไปไม่ได้ เพราะเป็นสถานที่ ๆ ต้องขออนุญาตก่อน แต่ผมเข้าไปกับคนเรือซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลพื้นที่ห้ามล่าสัตว์อยู่แล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่จะรู้ดีว่า อะไรควรทำไม่ควรทำ

    เช้าขนาดนี้ไม่ได้มีเพียงผมที่ออกมานอกบ้าน ยังมีนักท่องเที่ยว และช่างภาพนั่งเรือออกมาหวังชื่นชมความงาม และถ่ายรูป อีกทั้งยังมีชาวบ้านเริ่มมายกยอกัน ซึ่งการยกยอบางฤดูกาลจะมีชาวบ้านออกมายกยอเยอะมาก เพราะว่าน้ำจากแม่น้ำไหลลงมาที่ปากอ่าว ปลาจะชุมกว่าปกติ แต่สำหรับวันที่ผมมาเป็นช่วงที่ชาวบ้านออกมายกยอกันบ้างไม่มากนัก

    DSC_5290 มีนาคม 25, 2559

    ชาว บ้านพายเรือออกมาขึ้นยอของตนเองตั้งแต่เช้าตรู่ จับปลาตัวเล็ก ๆ มาใช้ทำอาหาร ถ้าเหลือก็เอามาขาย ปลาที่ได้จากยอจะเป็นปลาตัวเล็ก ๆ เวลากินก็จะกินทั้งตัว ปลาใหญ่ ๆ จะไม่ค่อยมีติดมาเท่าไหร่

    จุดแรกที่เราไปถ่ายกันก็คือ ยอยักษ์ยามเช้า อย่างที่บอกไปแล้วว่าการถ่ายภาพยอยักษ์นิยมถ่ายช่วงเช้าเพราะจะได้ภาพยอ ยักษ์กับพระอาทิตย์ และถ้าวันไหนโชคดีไม่มีเมฆ เห็นพระอาทิตย์กลมโต ก็จะเห็นชาวบ้านยกยอตักตะวัน แต่วันที่ผมไปนั้นมีเมฆอยู่ที่เส้นขอบฟ้าทำให้ไม่เห็นพระอาทิตย์ขึ้น แต่ก็ได้ภาพที่น่าประทับใจไม่น้อย

    DSC_5311 มีนาคม 25, 2559

    ยอเมื่อถูกยกขึ้นมา ชาวบ้านก็จะเอาสวิ่งด้ามยาวมาตักปลาตัวเล็ก ๆ แล้วก็จุ่มยอลงไปในน้ำเหมือนเดิม

    DSC_5318 มีนาคม 25, 2559

    ตลอดเวลาเราจะเห็นเรือชาวบ้านวิ่งผ่านไปขึ้นยอ หรือออกไปจับปลา หรือเก็บสายบัวอยู่เรื่อย ๆ

    ยอยักษ์อยู่กันเป็นกลุ่มใหญ่ตรงปากแม่น้ำ จุดอื่นผมก็เห็นมีบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะมีแค่ 1 – 2 ยอเท่านั้น เพราะไม่ใช่ปากอ่าวที่จะมีปลาชุกชุม เพราะฉะนั้นผมจึงใช้เวลาอยู่ที่จุดนี้นานมาก และอาจจะเป็นเพราะวันที่ผมไปนั้นมีเมฆที่เส้นขอบฟ้า ทำให้ไม่สามารถถ่ายภาพ “ตักตะวัน” ได้ จึงบอกลุง และพี่คนเรือวนถ่ายอยู่แถวนั้นนานมาก

    ซึ่งลุงก็ยินดี ลุงพูดย้ำอยู่หลายครั้งว่า ต้องการให้จอดตรงไหน ถ่ายตรงไหน บอกได้เลยอย่าเกรงใจ ลุงต้องการให้ภาพเหล่านี้ออกไปนำเสนอต่อชาวโลก เพื่อชักชวนคนมาเที่ยวพัทลุง (ทำเป็นเล่นไป ลุงเรียนจบปริญญาาโท สาขาเกี่ยวกับการท่องเที่ยวนะครับเนี้ย ได้รับเชิญไปบรรยายเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอยู่เรื่อย ๆ) ซึ่งแน่นอน ผมใช้สิทธิ์นั้นอย่างเต็มที่ และใช้เวลาอยู่ตรงนี้นานมาก ๆ เพราะรอให้พระอาทิตย์โผล่ขึ้นพ้นก้อนเมฆ

    DSC_5345 มีนาคม 25, 2559

    ยอยักษ์มีจำนวนหลายสิบยอ ผมดูด้วยตาคร่าว ๆ น่าจะไม่ต่ำกว่า 50

    ยอยักษ์ไม่ได้อยู่ยงคงกระพัน ลุงเล่าให้ฟังว่า ไม้ยอนี่ต้องมีการเปลี่ยนอยู่เรื่อย ๆ สมัยก่อนชาวบ้านเข้าป่าไปตัดไม้มาทำตัวยอ แต่ปัจจุบันเป็นพื้นที่ห้ามล่าสัตว์ เป็นป่าสงวน ทำให้ชาวบ้านต้องซื้อไม้มาทำยอ ยอก็มีอายุอยู่ ผ่านไปนานเท่าไหร่ผมจำลุงเล่าไม่ได้แล้ว ซึ่งไม่นานมากนักก็ต้องเปลี่ยนไม้กันใหม่ มันจะพุพัง

    บางฤดูกาลเราจะเห็นจำนวนยอเพิ่มขึ้น ซึ่งก็เป็นฤดูกาลที่มีปลาเยอะ น้ำไหลลงที่ปากแม่น้ำนั้นแหละ ชาวบ้านก็จะมาสร้างยอกัน บางจุดที่ผมผ่านก็ยังเห็นซากยอไม่มีตัวยอ มีแต่นั่งร้านเฉย ๆ

    DSC_5416 มีนาคม 25, 2559

    เราจะเห็นนั่งร้านอยู่ติดกัน และยอยักษ์อยู่คนละฟากแบบนี้เสมอ

    การยกยอยักษ์จะต้องปีนขึ้นไปที่ปลายด้านหนึ่งเพื่อใช้น้ำหนักตัวดึงตัวยอ ขึ้นมา ซึ่งเป็นภาพที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน ปกติเราจะเห็นยอเล็ก ๆ ที่เวลายกขึ้นมาก็ไม่ต้องใช้คนปีนขึ้นไปแบบนี้

    ลุงพยายามผูกมิตรกับชาวบ้าน ลุงจะชวนคนนั้นคนนี้คุยด้วยตลอด เพื่อให้ผมสามารถเข้าไปถ่ายภาพได้ เพราะผมเชื่อว่าชาวบ้านบางคน พื้นฐานแล้วอาจจะไม่อยากโดนถ่ายรูปก็ได้ ซึ่งลุงรู้ดี

    ลุงเล่าให้ฟังว่า ลุงมาเปิดโฮมสเตย์ ข้าว ผัก ปลา ชาวบ้านเหลือก็เอามาขายลุง ลุงก็เอามาทำให้นักท่องเที่ยวทาน ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ ลุงพยายามชวนคุยเพื่อผูกมิตร ให้ชาวบ้านรู้สึกดี และเข้าใจถึงประโยชน์ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่

    ผมลองถามพี่คนเรือว่า เราเข้าไปใกล้มากได้หรือเปล่า จะเป็นการรบกวนการหาปลาของชาวบ้านหรือเปล่า พี่คนเรือเอ่ยแทนลุงว่า เราเข้าไปใกล้มาก ๆ ไม่ได้ ซึ่งผมก็ยินดีที่จะไม่ไปรบกวนวิถีของชาวบ้านมากเกินไป

    DSC_5426 มีนาคม 25, 2559

    ซากนั่งร้านที่ทิ้งไว้ว่างเปล่า เฝ้ารอวันน้ำดี ปลาชุม มันจะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

    ความอดทนของผมเป็นผล เมื่อแสงอาทิตย์เริ่มเป็นลำ ผมรู้อยู่แล้วว่าเมื่อพระอาทิตย์กำลังโผล่พ้นก้อนเมฆแบบนี้ เราจะได้แสงเทพ เวลานั้นมาถึงก็สวยงามจับใจ บอกพี่คนเรือขยับนิด ไปทางนั้นอีกหน่อย พอแล้วพี่ ขอนิ่ง ๆ แล้วก็ได้ภาพด้านล่างมา

    DSC_5485-Edit มีนาคม 25, 2559

    ลำ แสงพุ่งทะยานผ่านปอยเมฆเป็นลำเปล่งสีทองสะท้อนกับผิวน้ำ รู้สึกมีความสุข อยากให้ในนามีข่าวรวงทอง ในน้ำก็มีปลาชุม คือจะเกี่ยวไม่เกี่ยวไม่รู้ละ แต่ผมรู้สึกว่า ไทยคือแผ่นดินเกิดของเรา เป็นแผ่นดินทอง ให้ที่อาศัย เป็นแหล่งอาหาร ทำมาหากินให้เรา

    แสงออกแล้ว จริง ๆ มันก็ถึงเวลาต้องเดินทางต่อได้แล้ว ถึงแม้จะไม่ได้ภาพ “ตักตะวัน” ก็ตาม จะรอให้พระอาทิตย์เป็นลูกโต ๆ คงยาก เพราะเมฆอยู่สูง ผมจึงหันไปบอกลุง และพี่คนเรือว่า “ป่ะ เราไปกันต่อเถอะครับ” ลุงพยักหน้า พี่คนเรือขานรับ สตาร์ทเครื่องเรือเพื่อเร่งมุ่งหน้าไปจุดหมายต่อไป

    นั้นคือ แนวกันน้ำที่ทำจากต้นลำพู ซึ่งเป็นภาพที่หลายคนนิยมมาถ่ายเช่นกัน เมื่อยืนจากฝั่ง เราจะเห็นเหมือนต้นลำพูอยู่โดดเดี่ยวกลางทะเล ซึ่งเราจะถ่ายกันเฉพาะแสงเช้าเท่านั้น

    พี่คนเรือพามาถึงที่ก็ดับเครื่องเช่นเคย และใช้ไม้พาย พายเรือแทน เพื่อไม่ให้เสียงดัง เปลืองน้ำมัน และทำให้เข้าถึงจุดที่ผมต้องการได้ง่าย

    DSC_5538 มีนาคม 25, 2559

    ลุง และพี่คนเรือ ณ ต้นลำพู ซึ่งพี่คนเรือจะมีทั้งไม้พาย และไม้ยาว เพราะพื้นที่น้ำแถวนี้ไม่ลึก ใช้ไม้ยาวช่วยค้ำเรือให้นิ่ง หยุดกระทันหันได้เมื่อผมขอให้พี่เขาหยุด

    DSC_5528-Edit มีนาคม 25, 2559

    ต้น ลำพูกับเมฆลักษณะนี้ ผมว่าดูสวยงามเป็นอย่างมาก ยิ่งเมื่อได้ลำแสงเทพด้วย ยิ่งสวยงามเข้าไปอีก ใครว่ามีเมฆแล้วถ่ายภาพไม่สวย ผมว่าไม่แน่เสมอไป

    ผมถามถึงต้นลำพูคู่ว่ามีไหม ลุงหันไปถามพี่คนเรือ พี่เขาบอกว่าก็มีนะ แต่ไม่ค่อยเห็นใครไปถ่ายรูปกันเท่าไหร่ ผมบอกว่า ผมอยากถ่าย ซึ่งแน่นอน พี่คนเรือไม่เกี่ยงงอน จัดให้ตามคำขอ

    DSC_5544-Edit มีนาคม 25, 2559

    เดิมที ภาพนี้จะอยู่ใกล้ต้นมากไปนิด เพราะฝั่งอยู่ใกล้ต้นมาก ผมขอพี่คนเรือว่าให้เลาะเข้าใกล้ฝั่งเลย ถึงได้กอต้นกก หรือต้นอะไรผมก็ไม่ทราบ มาเป็นฉากหน้าไปด้วย เสียดาย ดวงอาทิตย์ตรงกลางระหว่างต้น เป็นภาพที่ผมถ่ายมาแล้วเสีย

    DSC_5555-Edit มีนาคม 25, 2559

    ต้น ลำพูมีหลายต้นในพื้นที่แถบนี้ ใครไม่ต้องการนั่งเรือมาถ่าย ก็สามารถใช้เลนส์ทางยาวโฟกัสเยอะ ๆ หน่อยมายืนถ่ายแถวหลังโรงเรียนบางปากประน่าจะได้ เพราะผมเคยเห็นช่างภาพบางท่านเล่าว่าถ่ายจากที่นั้น

    ถึงเวลาเดินทางต่อ ตะวันเริ่มขึ้นสูงมาก แดดก็เริ่มร้อน เหลือมุมถ่ายนก บึงบัว และป่าพุ ผมคิดในใจว่า น่าจะไม่ได้ภาพที่น่าสนใจเท่ากับไฮไลท์ยอยักษ์ และต้นลำพูอีกแล้ว ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ถูก แต่ผมรู้ตัวดีว่าการถ่ายนก จะต้องใช้เลนท์ทางยาวโฟกัสที่ยาวมาก ตัวผมเองมีแค่ไกลสุด 200 mm. จะทำให้ได้ภาพนกใกล้ ๆ ไม่ได้ นกก็จะบินหนีไปเสียก่อนซะส่วนใหญ่ ส่วนบึงบัวผมไม่คาดหวังอะไรนัก สำหรับป่าพุ ผมยิ่งไม่ได้คาดหวังมากกว่าทุกจุด

    DSC_5581-Edit มีนาคม 25, 2559

    ตะวันขึ้นสูง เรามุ่งหน้าเดินทางต่อ

    จุดหมายต่อไปคือจุดดูนกที่น่าสนใจ และมีภูมิประเทศที่ดูแตกต่าง “ท่งแหลมดิน” ลุงเล่าให้ฟังว่า ฝรั่งที่มาด้วยถึงกับอุทานว่า Amazing Unseen ซึ่งผมก็เห็นด้วยว่ามันค่อนข้างแปลกตา และดูสวย แต่ผมถ่ายออกมาไม่ได้เรื่องเลย

    ลักษณะของมันคือ เป็นพื้นดินที่โดนน้ำกัดเซาะ ถึงน้ำจะไม่ลึก แต่ก็ทำให้ดินที่ถูกกัดเซาะชัดเจน และรอยกัดเซาะบางจุดทำให้เหมือนแผ่นดินเล็ก ๆ เหล่านั้นลอยเหนือน้ำเป็นจุด ๆ เหมือนแผ่นน้ำแข็งในขั้วโลก ต่างกันที่นี่คือดิน บนผิวดินเป็นหญ้าเขียว ดูสวยงาม

    แถมที่นี่ยังเป็นแหล่งอาหารของนกที่อพยพมาจาไซบีเรีย หนีหนาวมาเพื่อวางไข่ ฟักลูกแล้วก็จะบินกลับ ทำให้ที่นี่มีนกหลากหลายสายพันธุ์ สำหรับคนชอบส่องนก ที่นี่คือสวรรค์ แต่ว่าเมื่อพ้นช่วงเดือนนี้ เดือนหน้าไป นกก็เริ่มน้อยลงแล้วนะครับ

    DSC_5610 มีนาคม 25, 2559

    ลักษณะ ของแผ่นดินที่ถูกน้ำกัดเซาะจนเหมือนเป็นแผ่นหลุดออกมาจากแผ่นดินใหญ่แบบนี้ มีให้เห็นมากมาย ดูสวยงามแปลกตา สามารถขึ้นไปยืนด้านบนได้

    DSC_5599 มีนาคม 25, 2559

    เจอ แผ่นดินใหญ่พอประมาณ ลุงขอให้ขึ้นไปถ่ายรูปคู่กับลุงหน่อย แต่ภาพนั้นผมโพสต์ไม่ค่อยสวย เลยเอาออกไป รูปนี้ดูดีกว่าสำหรับลุง และพี่คนเรือ

    วิ่งมาเจอเป็นแผ่นดินค่อนข้างใหญ่ เห็นนกจำนวนมาก ลุงบอกให้พี่คนเรือจอด และบอกให้ผมขึ้นไปถ่ายรูปนก เพราะลุงรู้ว่าเลนส์ผมอาจจะไม่อำนวยถ้าถ่ายจากบนเรือ ลุงก็เป็นคนถ่ายภาพ ทำให้มีความรู้เรื่องกล้องอยู่ ผมขึ้นไปแล้วก็ถ่ายภาพนกซึ่งแน่นอนครับ แทบไม่ได้เลย จะเอาจริง ๆ อาจจะต้องหมอบเข้าไป เพราะตรงนี้มันทุ่งโล่ง นกมันก็เห็นเราเดินมา หนีหมดครับ

    DSC_5645 มีนาคม 25, 2559

    ถ่ายนกไม่ได้ หันไปถ่ายลุงแก้เขิน ซึ่งลุงจะโพสต์ท่าให้กล้องตลอดที่ผมเล็งกล้องไปหา 555

    จะว่าไป ผมลืมอีกหนึ่งไฮไลท์ที่มาทะเลน้อยแล้วไม่พูดถึงไม่ได้ นั้นคือเจ้าควายน้ำ ควายเผือก ซึ่งผมเจอไม่เยอะนัก แต่จริง ๆ มันมีเยอะนะครับ ช่วงเวลาที่ผมไปอาจจะไม่ตรงกับจุดที่ฝูงควายอยู่พอดี จึงได้ภาพมาไม่มาก

    บริเวณนี้เริ่มเห็นพืชน้ำที่เป็นวัชพืชขึ้นเยอะเป็นกอ ๆ อยู่กางน้ำ จะว่าไปก็สวยดี ควายน้ำจะดำผุดดำว่ายแถวนี้เยอะ ผมคุยกับลุงว่า ควายตัวค่อนข้างใหญ่ มันอ้วนหรือไม่ ลุงบอกมันก็ไม่อ้วนนะ แต่ผมเห็นมันกินทั้งวัน แปลกใจทำไมมันไม่อ้วน หรือว่าเพราะมันใช้แรงค่อนข้างเยอะในการดำผุดดำว่ายก็เป็นไปได้

    DSC_5713 มีนาคม 25, 2559-2

    ควายน้ำผมมักจะเห็นอยู่กันเป็นฝูง มีบ้างบางตัวที่เดินหลุดฝูงเพราะตามฝูงไม่ทัน

    ลุงบอกว่า ควายค่อนข้างคุ้นเคยกับนักท่องเที่ยว บางทีหันมาเล่นกล้องด้วย แต่ผมพบว่า เรือเข้าไปใกล้ ๆ มันก็หนีนะ พี่คนเรือเหมือนรู้ใจ ดับเครื่องแล้วพายเข้าไปแทน จึงได้ภาพควายหันหน้ามา ไม่อย่างนั้นผมจะได้แต่ภาพแบบด้านล่าง เพราะควายพากันหันหลังหนีเรือหมด

    DSC_5690 มีนาคม 25, 2559

    ฝูงควายที่พยายามหนีเรือที่ยังติดเครื่องอยู่

    DSC_5728 มีนาคม 25, 2559

    บางตัวก็ดูเหมือนไม่แคร์ฝูงเท่าไหร่นัก ค่อย ๆ ว่ายสโลว์ไลฟ์ไปเรื่อย ๆ ก็ในเมื่ออาหารที่นี่อุดมสมบูรณ์ ก็ไม่รู้จะรีบไปทำไม

    ผมไม่รู้เหมือนกันว่าควายน้ำเขาเลี้ยงไว้ทำไม จะเอาไปไถ่นาหรือเปล่าก็ลืมถามลุง รู้แต่ว่ามันเป็นหนึ่งในดาราของที่ทะเลน้อย เห็นแบบนี้ก็จะมีคอกของมันอยู่นะครับ ถึงเวลามันก็จะกลับเข้าคอกกัน เช้า ๆ ชาวบ้านก็มาเปิดคอกให้มันออกมาหากิน

    จากนี้เราจะเริ่มมุ่งหน้าไปเรื่อย ๆ ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าที่ไหน แต่เริ่มเห็นบัว เพียงแต่มันไม่ใช่จุดชมบัว เพราะเป็นเหมือนลำธารไม่กว้างนัก มีทั้งบัวขาว และบัวแดง บัวขาวลุงบอกจะมีกลิ่นหอมมาก

    DSC_5741 มีนาคม 25, 2559

    ก่อน ถึงบึงบัว จะเจอลำธารลักษณะนี้อีกหลายตลอด มีทั้งบัวแบบนี้ และเป็นดอกบัวคนละสายพันธุ์ และยังมีป่าพุ ดงผักกระเฉดก็มี จัดว่าเป็นภูมิประเทศที่หลากหลายมาก ๆ ระหว่างนี้ก็จะเจอนกตลอดทางครับ

    ระหว่างผ่านทางเห็นชาวบ้านสองลุงป้ากำลังเก็บสายบัวไปขาย ลุงก็ทักด้วยสำเนียงใต้อีกเช่นเคย และติดต่อขอซื้อสายบัว บอกว่าจะเอาไปทำให้ผมกินเป็นมื้อกลางวัน ไอ้เราก็ไม่เคยกินเสียด้วย แต่ไม่ได้ เรามาที่ถิ่นไหน อาหารการกินควรจะลิ้มรสของถิ่นนั้นด้วย

    DSC_5778 มีนาคม 25, 2559

    ลุงป้าหาสายบัวไปขาย

    DSC_5780 มีนาคม 25, 2559

    ลุงสนั่นซื้อมาประมาณ 4 มัด เกือบจะเหมาะลุงป้า ลุงป้ายิ้มแก้มปริ ทั้ง 4 มัดราคาต่ำกว่า 50 บาท

    ดอกบัวแถวนี้จะเป็นสีแดงเสียมากกว่า เหมือนกับที่บึงใหญ่ แต่บางจุดก็จะมีแต่ดอกบัวสีขาวที่มีกลิ่นหอม ซึ่งลุงบอกมีสรรพคุณรักษาโรคด้วย

    DSC_5808 มีนาคม 25, 2559

    บัวแดงอยู่ทั่วไปในลำธารบางช่วงระหว่างทางไปบึงบัวใหญ่ที่ยังอยู่อีกไกลพอสมควร

    DSC_5826 มีนาคม 25, 2559

    นกแปลก ๆ หลายพันู์ยืนเรียงราย แต่น้อยนักที่จะยืนให้ผมถ่าย เพราะช่วงนี้พี่คนเรือจะใช้เครื่องยนต์แทนการพาย

    DSC_5839 มีนาคม 25, 2559

    เจ้าตัวนี้ผมเห็นพยายามจะไปยืนบนหลังควายอยู่พักใหญ่ละ

    DSC_5880 มีนาคม 25, 2559

    เฮ้ย วงแตก ตำรวจมา อ้าวไม่ใช่ มันกลัวเสียงเรือต่างหาก ต้องขอโทษด้วยที่เข้าไปรบกวน

    DSC_5912 มีนาคม 25, 2559

    ตัวเล็กไปแล้ว ตัวใหญ่ตัวเดียวก็ไม่อยู่ครับ

    DSC_5925 มีนาคม 25, 2559

    ไม่ รู้ว่าพันธุ์อะไร แต่นกพันธุ์นี้จะใจแข็ง มักจะไม่ค่อยบินหนี (ส่วนใหญ่ก็หนีนั้นแหละ แต่ยังมีบ้างที่ไม่หนี) ผมเห็นบางตัวยืนตัวแข็งทื่อ แบบว่ามันคงเห็นเหยื่อของตัวเองอยู่แถวนั้น

    DSC_5961 มีนาคม 25, 2559

    บางตัวก็ทำเนียน นิ่งแอบในพุ่มไม้ แต่ผมเดาว่า มันไม่หนีเพราะน่าจะมีไข่ของมันอยู่ตรงนั้น คงจะหวงไข่ของมัน

    DSC_5988 มีนาคม 25, 2559

    ถ้าอยู่สูงสักหน่อย ก็ไม่กลัวเท่าไหร่ ยืนให้ถ่ายพอได้อยู่

    บอกตามตรงว่าภาพนกผมแทบไม่หวัง และน่าจะแทบไม่ได้ภาพเลยถ้าไม่ได้มากับพี่คนเรือท่านนี้ พี่คนเรือท่านนี้เหมือนจะเป็นคนสนิท หรือเป็นญาติของลุงสนั่นเอง พี่เขาไม่รีบร้อน และลุงก็บอกพี่เขาอยู่เรื่อย ๆ ว่า ต้องให้เขาได้ภาพออกไปเผยแพร่

    พี่คนเรือจะคอยสังเกตุผม ถ้าเห็นผมยกกล้อง พี่เขามักจะเบาเครื่องให้เงียบลง หรือถ้าเห็นผมตั้งใจเล็งอะไรแต่ไกลบางทีพี่เขาจะดับเครื่อง ใช้พายแทน หรือถ้าพี่เขาไม่รู้ เราก็สามารถเอ่ยปากบอกพี่ได้อย่างไม่ต้องเกรงใจ พี่เขายินดีมาก

    ผมไม่แน่ใจว่าถ้าเช่าเรื่อจากคิวเรือเอง จะได้แบบนี้ไหม ลุงบอกว่าไม่ได้หรอก และก็จะไม่ได้ไปทั่วแบบนี้ด้วย ผมเสียแพงกว่าเล็กน้อย (1500 บาท) แต่ไปได้หลายที่ ออกตั้งแต่ 05.30 กลับก็ตอน 10.00 น. ส่วนตัวผมถือว่าคุ้มค่ามาก ๆ กับความเอาใจใส่ของพี่คนเรือในระดับนี้

    DSC_6160 มีนาคม 25, 2559

    ป่าพุ หนึ่งในสอง ป่าพุ ที่เราจะผ่าน วิวจะเป็นลักษณะนี้ทั้งหมด

    เราเข้ามาถึงป่าพุ ซึ่งให้ความรู้สึกร่มเย็น แต่ผมไม่ได้ภาพมากนัก บอกตรง ๆ ว่าไอเดียผมตอนนั้นค่อนข้างตัน ถ้าย้อนกลับไปได้ ก็อยากไปถ่ายใกล้ ๆ โค่นต้น น่าจะได้มุมที่น่าสนใจ ตอนนั้นคิดอะไรไม่ออก

    หลังจากอยู่ในป่าพุพักใหญ่เราก็เริ่มออกมาที่ท่องน้ำกว้างอีกครั้ง ซึ่งจุดนี้จะใกล้บึงบัวแดงแล้ว

    เราจะเห็นเครื่องมือหาปลาของชาวบ้าน เราเรียกว่า “ไส” ไว้ดักจับปลาอยู่แถวนี้เยอะมาก

    DSC_6193 มีนาคม 25, 2559

    ท้องน้ำกว้างใหญ่กลับมาให้เห็นอีกครั้ง น้ำค่อนข้างนิ่ง คลื่นที่เห็นมาจากเรือของเราเอง

    เราจะเริ่มเห็นชาวบ้านมาทอดแห หรือมาดูปลาในไสบริเวณนี้หลายลำ น้ำในบึงนิ่งมาก ภาพสะท้อนสวย ๆ ถ้ามีก้อนเมฆงาม ๆ เราหันหลังให้พระอาทิตย์พอดี ทำให้ฟ้าดูเป็นสีฟ้าสดใส รู้สึกสบาย แม้ว่าจะเป็นช่วงสาย ๆ แดดเริ่มแรงขึ้นมากแล้วก็ตาม

    DSC_6218 มีนาคม 25, 2559

    ชาวบ้านมาทอดแห่ แน่นอนลุงสนั่นทักคุยกันไปมาระหว่างผ่านกันเช่นเคย

    DSC_6220 มีนาคม 25, 2559

    ไสดักจับปลาอยู่ในบริเวณนี้เยอะมาก

    DSC_6231 มีนาคม 25, 2559

    ชาวบ้านมาตรวจไสของตนเอง ผมแปลกใจว่าเขาจำได้ไหมว่าไสไหนของใคร

    และแล้วเราก็ถึงบึงบัวขนาดใหญ่ สวยงาม แต่ผมไม่รู้สึกอะไรมากนก ถ่ายเก็บมาไม่กี่ภาพเท่านั้น หลังจากนั้นก็วงเข้าคลองเล็ก ๆ กลับถึงท่าเรือและเข้าที่พัก พักผ่อนยาว เพราะวันนี้จะเดินทางกลับแล้ว ก่อนกลับผมจะแวะไปถ่ายรูปที่ถนนเอกชัย หรือถนนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาอีกทีก่อนกลับ

    DSC_6288 มีนาคม 25, 2559

    บึงบัวแอ่งใหญ่ เราจะเห็นเรือนั่งท่องเที่ยวบริเวณนี้อีกครั้ง

    ผมกลับเข้าบ้านลุงสนั่น เช็ครูปคร่าว ๆ ่วาใช้งานได้บ้างไหม ถ้าไม่ได้อาจจะต้องอยู่ต่อ แต่สรุปแล้วคือใช้ได้ ก็เลยเดินไปคุยกับลุงสนั่นว่าจะกลับวันนี้

    ลุงสนั่นเสนอให้อยู่ต่อก่อน เพราะเดินทางกลับกลางคืนอันตราย ลุงบอกว่าจะไม่คิดเงิน เพราะผมช่วยลุงเรื่อง Facebook Page และการกำหนดจุดสถานที่ตั้งโฮมสเตย์ไว้ใน Google Map (ตอนนี้อยู่ระหว่างยืนยันสถานที่จริง ซึ่ง Google จะส่งไปรษณีย์บัตรมาให้ลุง เพื่อตรวจสอบว่าตำแหน่งนี้ ลุงดูแลอยู่จริง ๆ)

    แต่ผมเกรงใจ และใจคิดจะกลับแล้ว ทานข้าวเสร็จ สายบัวผัดพริกไทยดำ และกับข้าวอื่น ๆ ของลุงอร่อยมาก ๆ

    สักพักผมก็นอนเอาแรง 2 ชั่วโมง ตื่นอีกครั้ง 5 โมงเย็น อาบน้ำอาบท่า เก็บของ ลาลุงสนั่น ออกไปที่ถนนเอกชัย ซึ่งเป็นชื่อเดิมที่คนแถวนี้เรียกกัน เป็นถนนลอยตัวเหนือพื้นที่ชุมน้ำเป็นทางไกล ที่นี่มีบ้านคู่ร้าง ซึ่งเป็นจุดถ่ายภาพที่เห็นได้บ่อย ๆ

    DSC_6420-Edit มีนาคม 25, 2559

    บ้านคู่ร้าง ไม่รู้ว่าเคยเป็นของใคร และใช้ทำอะไร แต่ใครมาที่นี่ก็ต้องมาถ่ายรูปเจ้านี้เสมอ

    DSC_6431-Edit มีนาคม 25, 2559

    สภาพภูมิประเทศชุมน้ำในฤดูนี้ น้ำน่าจะน้อยลงไปซักหน่อย

    DSC_6456 มีนาคม 25, 2559

    พระอาทิตย์จะตกแล้ว

    DSC_6499-Edit มีนาคม 25, 2559

    ถนนเอกชัยถูกเคลือบสีด้วยแสงอาทิตย์อัสดง

    DSC_6500-Edit มีนาคม 25, 2559

    พระอาทิตย์ตกเหมือนไม่เป็นใจนัก

    DSC_6519-Edit มีนาคม 25, 2559

    แสงสุดท้ายก่อนจากพัทลุง

    18.30 น.โดยประมาณ ผมเริ่มเดินทางกลับ เป้าหมายคือกรุงเทพ เป็นการขี่กลับที่ใช้เวลานานมาก กว่าจะถึงบ้านก็ปาไป 10.20 น. เห็นจะได้ ผมง่วงทำให้ต้องหยุดพักตามปั้มน้ำมันบ่อย และนาน แต่ก็ดีกว่าไปหลับในแล้วลงไปกลิ้งข้างทาง อุตส่าห์ได้ภาพที่น่าสนใจ จะไม่กลับบ้านมาทำรูปก่อนตาย คงตายตาไม่หลับ

    • Posts-6
    พิรุณ •  March 29, 2016
    • Posts-7
    พิรุณ •  March 29 , 2016

    โฮมสเตย์ ลุงสนั่น บ้านปากประ

    DSC_5173 มีนาคม 24, 2559

    ทางเข้าบ้าน จะมีป้ายเขียนว่า Home stay ซึ่งเป็นซอยเล็ก ๆ

    บ้านของลุงนั้นอยู่แถวจะติดคลองปากประ หาไม่ยาก อยู่ใกล้ร้านวิวยอ ซึ่งหลายคนจะรู้จักร้านนี้อยู่แล้ว แต่ถ้าคุณต้องการที่พักราคาไม่แพง อาหารฟรี 3 มื้อ และเป็นคนพื้นที่แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว แนะนำเรือ แถมลุงยังลงเรือไปกับเรา ไปแนะนำให้เราด้วยตัวเองได้อีก

    นอกจากจุดท่องเที่ยวที่ผมได้เอ่ยไปแล้วในบทความนี้ ลุงยังมีแพ็คเก็จทัวร์พาไปเที่ยวกาะที่อื่นแถวนั้นในพัทลุง หรือมีบริการรถรับส่งไปรับถึงสนามบิน และพาไปเที่ยวต่ออีกต่างหาก

    การติดต่อลุงสนั่น ให้ใช้เบอร์ 081-738-8271 เบอร์เดียวครับ

    ค่าที่พัก รวมอาหาร 3 มื้อ (เติมข้าวไม่อั้น) ต่อหัวต่อคน 550 บาท ผมคุยกับลุงเรื่องกางเต็นท์ ลุงบอกมากางได้ ขอแค่ค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าอาหารบ้างเท่านั้นเอง

    อาหาร อยากกินแบบไหน อยากกินอะไร กุ้งหรอ ปลาหมึกหรอ โทรบอกลุงไว้ก่อนได้ ลุงหาให้ได้จะหาให้ ถ้าหาไม่ได้ลุงจะได้บอกก่อน

    สำหรับตำแหน่งบน Google Map ให้ดูตามแผนที่ด้านบนนี้ครับ ผมกำลังทำจุดแสดงตำแหน่งให้ลุงอยู่ รอทาง Google ส่งรหัสยืนยันมาให้ลุง ลุงจะโทรบอกผมให้ผมยืนยันให้ แล้วจะมีชื่อ “โฮมสเตย์ ลุงสนั่น บ้านปากประ” ปรากฎบนแผนที่โลกใน Google Map ครับ