Search and share travel destinations and experiences in Thailand Sign up Log in
 
ไปสามชุกบ่อยแล้ว ไปตลาดเก้าห้องกันบ้างดีกว่า ตลาดเก้าห้อง (Kaohong Old Market) จ.สุพรรณบุรี
    • Posts-1
    Ajung •  August 29 , 2017

    ไปตลาดเก้าห้องกันเพราะยังไม่เคยไป

    เสาร์อาทิตย์ไม่อยากไปไหนไกลก็เลยนัดกันไปจังหวัดใกล้ๆ กรุงเทพฯ เลยเลือกที่จะไปสุพรรณบุรี เพราะมีเป้าหมายอยากไปพักที่ อ.เดิมบางนางบวช แต่ทางผ่านนั้นก็ขอแวะตลาดโบราณที่นึงก่อนที่ชื่อว่า "ตลาดเก้าห้อง" ที่เขาลือกันว่าคนไม่เยอะ ของกินก็เหมือนกับสามชุก และก็ยังไม่เคยไปด้วย ชื่อยังไม่เคยได้ยินเลย เรียกง่ายๆ ว่าไม่รู้จักมาก่อนเลย ทั้งๆ ที่ตลาดนี้มีมาก่อนสามชุกอีก อยากรู้ด้วยล่ะว่าทำไมต้องเก้าห้อง ตลาดนี้มีแค่เก้าห้องเหรอ ตลาดก็เล็กนิดเดียวสิ เอ..หรือว่าไม่ใช่ ยังไงล่ะเนี่ย สงสัยมากยิ่งขึ้น รีบไปหาคำตอบกันดีกว่า..

    ตลาดเก้าห้องตั้งอยู่ที่หมู่ 2 เทศบาลตำบลบางปลาม้า ไปตามทางหลวง 340 กม.ที่ 87-88 เลยแยกเข้า อ.บางปลาม้าไปประมาณ 1 กม. เข้าไปอีกประมาณ 2.4 กม. (ทางไปวัดลานดุก) 

    เมื่อมาถึงตลาดสิ่งที่รุ้สึกได้คือไม่มีนักท่องเที่ยวคนอื่นเลยนอกจากเราสามคน แต่ก็มีโผล่มาบ้างเป็นกลุ่มเล็กๆ ในตอนสายๆ ถามชาวบ้านที่นี่ก็บอกว่าที่นี่มีคนมาเที่ยวก็จะมีมาเป็นคนสองคน หรือไม่ก็มาเป็นกลุ่มใหญ่หน่อย คนจึงไม่พลุกพล่านเหมือนสามชุก เพราะของขายจะมีไม่มากจึงทำให้แต่ละร้านมีของขายที่ไม่ซ้ำกัน แม่ค้าส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยทั้งนั้น คนรุ่นใหม่ต่างก็ย้ายถิ่นฐานไปทำงานในเมืองกันหมด เหลือเพียงแต่ผู้แก่เฒ่าอยู่เฝ้าบ้านเรือนเหล่านี้อย่างสงบ และทำมาหากินกันไปตามอัตภาพ แม้ตลาดนี้จะดูเงียบๆ แต่คนในท้องถิ่นก็ให้การต้อนรับแขกผู้มาเยือน พูดคุยเล่าเรื่องสนุกให้พวกเราฟัง เป็นอะไรที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าสมัยก่อนนานแล้วมีเรื่องราวแบบนี้ด้วย เลยเป็นทริปที่เหมือนมาเยี่ยมบ้านเกิดยังไงยังงั้น เม้ากับคุณยายคุณป้ากันสนุกปากไปเลยค่ะ

    ประวัติตลาดเก้าห้อง

    คำว่า “เก้าห้อง” นำมาจากชื่อบ้านเก้าห้อง ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามตลาดล่าง ซึ่งตลาดสร้างขึ้นภายหลังจากที่ชุมชนหนาแน่นขึ้น โดย นายบุญรอด เหลียงพานิช (เดิมชื่อนายฮง) เกิดเมื่อ พ.ศ. 2422 ที่ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี บิดาเป็นชาวจีนอพยพ นายฮงได้แต่งงานกับนางแพ (หลานสาวของขุนกำแหงลือชัย เจ้าของบ้านเก้าห้อง) ต่อมานายบุญรอดได้ปลูกเรือนแพค้าขายริมน้ำหน้าบ้านขุนกำแหงฤทธิ์ ด้วยกิตติศัพท์ของความร่ำรวยของนายบุญรอดล่วงรู้ถึงหมู่โจร จึงถูกบุกปล้นทรัพย์สินและทำร้ายนางแพ ภรรยาของนายบุญรอดเสียชีวิต และได้ทรัพย์สินไปจำนวนหนึ่ง ทางอำเภอจึงได้ออกสกัดจับโจรได้ในวันรุ่งขึ้น พร้อมกับนำทรัพย์สินกลับมาคืนได้ทั้งหมด หลังจากนั้นนายบุญรอดได้แต่งงานใหม่กับภรรยาคนที่ 2 คือนางส้มจีน และได้คิดปลูกสร้างตลาดขึ้นเพื่อการค้าขายทางบก ซึ่งหลังจากตลาดเสร็จปรากฏว่าการค้าขายมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก มีผู้คนจากทุกสารทิศ ทั้งทางบก ทางน้ำ มาแลกเปลี่ยนซื้อสินค้ากันอย่างหนาแน่นในทุกวัน ชาวบ้านจึงเรียกตลาดแห่งนี้ว่า “ตลาดเก้าห้อง” มาจนถึงทุกวันนี้

    นี่คือโรงสีเก่า

     

    นี่คือสะพานแขวน พวกเราจะข้ามสะพานนี้ไปเพื่อไปดู "บ้านเก้าห้อง" บ้านไม้โบราณที่เป็นที่มาของชื่อตลาดเก้าห้องนั่นเอง

     

    พอข้ามสะพานมาเราก็จะเจอกับโรงเรียนวัดลานคา หลังจากนั้นเราก็เดินเลาะไปด้านหลังโรงเรียน เราก็จะเห็นบ้านเก้าห้องแต่ไกล

    ด้วยความอยากรู้ก็เลยลองเดินเข้าไปใกล้ๆ เพื่อสังเกตุการณ์อย่างใกล้ชิด

    ภายในบ้านไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ ชาวบ้านบอกว่าเจ้าของย้ายไปอยู่กรุงเทพฯ นานๆ ทีจึงจะกลับมาที่บ้านเก่าหลังนี้ 

    บ้านเก้าห้อง เป็นบ้านเก่าแก่ในประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่ข้างวัดลานคา อยู่ตรงข้ามตลาดเก้าห้อง อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำท่าจีน โดยขุนกำแหงลือชัย (เดิมชื่อวันดี ต้นตระกูลของ วิบูลย์ ประทีปทอง) เป็นผู้สร้างขึ้น ขุนกำแหงเป็นผู้นำชุมชนชาวไทยพวนกลุ่มหนึ่งที่อพยพมาจากเมืองเชียงขวาง เมืองเวียงจันทน์ อาณาจักรล้านช้าง หรืออาณาจักรลาวในอดีต ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 มีภาษาพูดเป็นของตนเอง เป็นภาษาลาวพวน ผู้คนบริเวณนี้ได้รับการกล่าวขานว่าขยันขันแข็งมาก ท่านทำหน้าที่เป็นนายกองเก็บส่วยและดูแลพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีพิธีต่างๆ ของตนเอง เช่น ประเพณีกำฟ้า แห่นางแมว ประเพณีบุญบั้งไฟในวันสงกรานต์ เป็นต้น

    ขุนกำแหงได้สร้างบ้านหลังนี้ขึ้นมาตามคำแนะนำของซินแสว่าต้องปลูกบ้านเป็นจำนวน 9 ห้อง แทนการปลูกบ้านเป็น 3 หรือ 4 ห้องตามแบบเดิมที่ผ่านมา ซึ่งได้ถูกไฟไหม้เผาผลาญจนวอดวายมาแล้วถึงสามครั้ง หลังจากที่ขุนกำแหงได้ทำตามคำแนะนำของซินแสแล้ว บ้านหลังนี้จึงมีแต่ความเจริญรุ่งเรืองนับแต่นั้นมา

    ///// ลักษณะของบ้านที่เรียกว่า “บ้านเก้าห้อง” /////

    บ้านเก้าห้องของขุนกำแหงเป็นบ้านแบบเรือนไทยไม้สัก หลังคาทรงจั่วปั้นหยา ใต้ถุนสูง ขนาดกว้างรวม ๗.๗๕ เมตร และยาว ๒๐.๕๐ เมตร โดยความยาวของบ้านขนานกับแม่น้ำท่าจีน และหันหน้าบ้านไปทางแม่น้ำ แนวความยาวของบ้านมีเสาบ้านเรียงอยู่ ๑๐ แถว ซึ่งแนวเสา ๒ แถวจะถือว่าเป็น ๑ ช่องเสา หรือ ๑ ห้อง (ห้องหนึ่งกว้างประมาณ ๒.๒๕ เมตร) ถ้ามีแนวเสา ๔ แถว จะเรียกว่า บ้านมี ๓ ช่องเสาหรือ ๓ ห้อง ดังนั้นบ้านที่มีแนวเสา ๑๐ แถว จึงเรียกว่าบ้านมี ๙ ช่องเสา หรือบ้าน ๙ ห้อง ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้เข้าใจได้ว่าที่เรียกว่า ”บ้านเก้าห้อง” นั้น มิใช่เพราะภายในบ้านมีการแบ่งเป็นห้องๆ ถึง ๙ ห้องแต่ประการใด

    หลังจากชื่นชมบ้านไม้โบราณอย่างจุใจแล้วเราก็เดินข้ามสะพานกลับมายังตลาด ในส่วนของตลาดกลาง ตรงส่วนนั้นเป็นตลาดเล็กๆ ขายไม้กวาด ขายขนม กระเทียม น้ำสมุนไพร และอื่นๆ อีกมาก ตรงบริเวณนั้นมีการเลี้ยงแมวไว้มากมายหลายตัว บ้างก็อยู่ในกรง บ้างก็เดินเล่นอยู่ข้างนอก หรือบางตัวหลับสบายบนที่นอนของเขาเอง

    ตลาดเก้าห้อง ตั้งอยู่ที่ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี มีอายุกว่า 170 ปีแล้ว แบ่งออกเป็น 3 ตลาด คือ ตลาดบน ตลาดกลาง ตลาดล่าง โดยเรียงจากทิศเหนือมายังทิศใต้ตามลำดับ

    ตลาดบน รูปแบบการก่อสร้างเป็นแบบสถาปัตยกรรมจีนปนไทย คือปลูกเป็นห้องแถวไม้สองชั้น คลุมหลังคาสูง หันหน้าต่างเข้าหากันประมาณ 20 ห้อง โดยพระชาญสุวรรณเขตเป็นผู้ก่อสร้าง

    ตลาดกลาง เดิมเป็นโรงสีของนายทองดี ต่อมาจึงสร้างห้องแถวไม้เพิ่มเติมประมาณสิบห้อง รูปแบบการก่อสร้างเป็นสถาปัตยกรรมจีน ในอดีตมีท่าเรือขนส่งสินค้าข้าวเป็นหลัก อีกทั้งยังมีเรือจ้างและเรือหางยนต์ หางยาว รับส่งชาวบ้านริมสองฝั่งแม่น้ำที่ต้องการจะเดินทางไปยังตัวเมืองสุพรรณบุรีและบางกอก เคยใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์มากมาย เช่น อั้งยี่ ลูกผู้ชายพันธุ์มังกร ดงดอกเหมย อยู่กับก๋ง แม่เบี้ย เจ็ดประจัญบาน อรหันต์ซัมเมอร์ ฯลฯ

    ตลาดล่าง เป็นศูนย์กลางการค้าขายที่เจริญรุ่งเรืองในอดีต สร้างโดยนายบุญรอด เหลียงพานิช เป็นห้องแถวไม้โบราณชั้นเดียวและสองชั้น รูปแบบการปลูกสร้างเป็นสถาปัตยกรรมจีนโบราณ

    ปัจจุบันนี้ ตลาดเก้าห้องเป็นตลาดที่เงียบเหงา เพราะผู้คนได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่อื่น ร้านค้าเดิมที่เจ้าของเสียชีวิต ลูกหลานก็มิได้สานกิจการต่อ ถึงแม้ตลาดนี้นักท่องเที่ยวจะน้อยจนนับคนได้ แต่ก็ยังมีร้านค้า ร้านขายขนมโบราณ ร้านก๋วยเตี๋ยว ราดหน้า น้ำสมุนไพร ไม้กวาด เตาถ่าน และอีกมากมายให้เราได้เลือกซื้อเป็นของฝากที่ทรงคุณค่า นั่นแสดงว่า.. ตลาดเก้าห้องนี้ยังมีชีวิตอยู่ตราบเท่าที่ชาวบ้านที่ส่วนใหญ่เป็นคนสูงวัย ยังคงมีแรงที่จะรักษาสิ่งเก่าแก่เหล่านี้

    เรื่องของกินนั้น เราได้ลิ้มลองราดหน้าที่ร้านเจ้จุก และอุดหนุนขนมไข่ปลาของคุณยาย ซื้อของฝากมากมายไม่ว่าจะเป็นขนมปลา มะม่วงกวน น้ำสมุนไพร และอื่นๆ อีกมากมาย ทุกอย่างนอกจากอร่อยแล้ว ยังได้เม้ากับแม่ค้าสนุกมากเลย


    นอกจากของกินหน้าตาแปลกๆ แล้วยังมีสิ่งนึงที่น่าสนใจนั่นคือ "หอดูโจร" ที่มีความสูงเท่ากับตึกสี่ชั้น

    หอดูโจร หรือป้อมปราบโจร เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน ใช้เวลาสร้างหนึ่งปีเศษ ทำพิธีเปิดเมื่อปี 2477 โดยพระยารามราชภักดี เจ้าเมืองสุพรรณบุรี เหตุที่สร้างป้อมนี้ขึ้นมาก็เพื่อป้องกันโจรผู้ร้ายซึ่งตอนนั้นมีชุกชุมมาก ทั้งโจรมเหศวร, เสือดำ, เสือใบ ฯลฯ จะให้ชายฉกรรจ์เข้าเวรยามที่ป้อม คอยดูโจรที่จะเข้ามาปล้นตลาด ป้อมนี้จะมองเห็นไกลไม่ว่าทางบกหรือทางแม่น้ำ เมื่อสร้างป้อมเสร็จทำให้โจรไม่กล้าเข้ามาปล้นตลาดเก้าห้องอีกเลย

    • Posts-2
    Ajung •  August 29 , 2017

    มาพักที่ท่าจีนริเวอร์โฮมอีกเป็นครั้งที่สอง

    หลังจากจ่ายตลาดเสร็จเราก็มุ่งหน้ามาที่ อ.เดิมบางนางบวช เพื่อมาพักที่ "ท่าจีนริเวอร์โฮม" ซึ่งเราเคยมาพักแล้วเมื่อปลายปีที่แล้วนี่เอง และครั้งนี้ก็ขอมาอีกสักครั้ง แต่ย้ายไปพักอีกโซนนึงที่เรียกว่า bunny river ซึ่งไม่ไกลจากที่เดิมมากนัก

    เราใช้เส้นทาง 340 เหมือนเดิม ที่นี่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 60 กม. ห่างจากสามชุกประมาณ 20 กม. และห่างจากบึงฉวากเพียง 5 กม. เท่านั้น

    ท่าจีนริเวอร์โฮม หรือบ้านหุ่นไล่กา เป็นรีสอร์ทกึ่งโฮมเสตย์เล็กๆ ติดริมแม่น้ำท่าจีน ที่นี่ออกแบบเป็นแนว cottage farmhouse style หรือกระท่อมปลายนาผสมระหว่างไทยกับฝรั่ง สำหรับหลัง bunny river นี้ ราคาห้องอยู่ที่ 1500 ในวันธรรมดา แต่วันหยุดราชการจะอยู่ที่ 1800 เท่านั้น หลังที่เรานอนสำหรับสองคน แต่เรามากันสามก็เสริมเตียงได้ในราคา 300 เหตุที่มาที่นี่อีกเป็นเพราะชอบสไตล์บ้านทุ่ง เป็นบ้านในฝันเลยล่ะ ที่ประทับใจอีกอย่างคือ คุณนะ กับ คุณแอน เจ้าของรีสอร์ทแห่งนี้ มีความใจดีและเอาใจใส่ดูแลลูกค้าเป็นอย่างมาก ทำให้เรารู้สึกอบอุ่นใจที่ได้มาพักที่นี่อย่างมีความสุข

    หลังจากได้เช็คเอาท์ในวันรุ่งขึ้น ก่อนกลับกรุงเทพฯ เราก็ได้แวะตลาดเก้าห้องอีกครั้ง เพราะดูเหมือนจะยังเดินไม่ทั่วอะนะ

    ทุกอย่างยังคงดำเนินไปอย่างช้าๆ ดูปกติและเรียบง่าย อย่างน้อยช่วงเวลาหนึ่งของเราก็ยังมีโมเม้นแบบนี้บ้าง

    ถ้าจะสังเกตุให้ดี ลูกกรงแต่ละห้องจะไม่เหมือนกัน บางห้องเป็นซี่ไม้แนวตั้ง บางห้องเป็นแนวนอน อันนี้ถือว่ามีความหมายนะ คือเจ้าของตลาดเนี่ยมีภรรยาหลายคน กรงซี่ไม้ที่เป็นแนวตั้งนั้นเป็นทรัพย์สินในความดูแลของเมียหลวง ส่วนแนวตั้งเป็นของเมียน้อยนั่นเอง นับได้ว่าท่านเจ้าของช่างมีการจัดระเบียบสังคมภายในครอบครัวที่ดีมากๆ คนโบราณมักทำอะไรมีเหตุผลและมีการวางแผนที่แยบยลนัก

    กับการมาตลาดแห่งนี้ ถือว่าได้ความรู้จากคนในพื้นที่มากมาย เรามีโอกาสได้สนทนากับชาวบ้าน ได้กินขนมอร่อยๆ ที่คุณยายเป็นคนทำ ทุกคนมีความเป็นกันเองกับเรา ที่นี่ถ่ายรูปได้สนุกมาก มีความเป็นคลาสสิคสูง แสงเงาที่คมเข้มทำให้ภาพบางภาพออกมาสวย คนก็ไม่เยอะ ไม่วุ่นวาย แต่ก็ยังรู้สึกว่ายังเก็บภาพไว้ไม่พอกับความต้องการเท่าไร ไว้ถ้ามีโอกาสต้องขอมาลากแตะและแชะภาพที่นี่อีกแน่นอน ที่ตลาดเก้าห้อง ตลาดร้อยกว่าปีที่มีตำนานอันควรรักษาไว้ตราบนานเท่านาน เราในฐานะนักท่องเที่ยวก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์สิ่งเก่าแก่เหล่านี้ ให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ว่าคนสมัยก่อนนั้นคิดอ่านกันอย่างไร มีความเป็นอยู่กันอย่างไร เพราะอดีตนั้นก็คือรากที่มั่นคงที่ทำให้มีปัจจุบันนี้มาได้

    แล้วเจอกันทริปหน้าค่ะ

    สามารถติดตามการเดินทางของเราได้ที่เพจเฟสบุค : ลากแตะไปแชะฝัน

    สอบถามข้อมูลได้ตลอด 24 ชม.ค่ะ