Search and share travel destinations and experiences in Thailand Sign up Log in
 
ตลาดเก่า ๑๑๙ ปี เจ็ดเสมียน เสน่ห์แห่งชุมชนในบรรยากาศแบบวันวาน ตลาดเก่า 119 ปี เจ็ดเสมียน (Chet Samian 119 Years Market) จ.ราชบุรี
    • Posts-1
    theTripPacker •  November 15 , 2013

    ตลาดเก่า ๑๑๙ ปี เจ็ดเสมียน เสน่ห์แห่งชุมชนในบรรยากาศแบบวันวาน

    สำหรับผู้ที่หลงใหลบรรยากาศของวันเก่าก่อนแบบย้อนยุคอยู่เป็นทุนเดิม คงประทับใจกับชุมชนเก่าแก่อย่าง ตลาดเก่า ๑๑๙ ปี เจ็ดเสมียน ได้ไม่ยาก ด้วยกลิ่นอายที่คงความดั้งเดิมแทบไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งห้องแถวไม้ รวมไปถึงความเงียบสงบ และวิถีของผู้คนถิ่นฐานนี้ ดูผสานเป็นเนื้อเดียวกันได้อย่างลงตัว แม้ว่าหลายสิ่งจะสวนทางกับโลกภายนอกที่พัฒนาไปไกล แต่อย่างไรก็ตาม ที่นี่กลับให้เสน่ห์ในแบบที่หาไม่ได้จากความเร่งรีบในป่าคอนกรีตแน่นอน

    แต่เดิมชุมชนเล็กๆ แห่งนี้มีความสำคัญจนถูกตั้งให้เป็นถึง อำเภอเจ็ดเสมียน กระทั่งในปี พ.ศ. 2438 ก็ได้ย้ายไปเป็น อำเภอโพธาราม มาถึงทุกวันนี้ ดังนั้นการคมนาคมตั้งแต่อดีตจึงมีความสะดวกสบาย ไม่ว่าจะเป็นทางน้ำ ก็สามารถล่องมาตามแม่น้ำแม่กลอง รวมไปถึงเส้นทางรถไฟ ซึ่งในอดีตถือว่าชุมชนตรงนี้เป็นจุดแลกเปลี่ยนย่อยๆ ระหว่างสินค้าที่มาจากทางน้ำและทางบกที่สำคัญทีเดียว

    • Posts-2
    theTripPacker •  November 15, 2013
    • Posts-3
    theTripPacker •  November 15 , 2013

    ทั้งนี้ ชื่อที่มาของเจ็ดเสมียนนั้น มีการสันนิฐานกันไว้หลากหลายเรื่องเล่า เป็นต้นว่าข้อมูลจาก วารสาร เมืองโบราณ ที่เคยนำเสนอว่า เมื่อครั้งที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 เสด็จมาประทับยังชาน เมืองราชบุรี บริเวณริม น้ำแม่กลอง เพื่อเกณฑ์กำลังพลชายเข้าเป็นทหาร ซึ่งมีคนสมัครเป็นจำนวนมาก ทำให้เสมียนที่ตามมากับขบวนเสด็จฯ จดรายชื่อไม่ทัน เลยได้ประกาศหาผู้รู้หนังสือมาช่วยเป็นเสมียนทำบัญชีรายชื่อ และในครั้งนั้นมีชาวบ้านสมัครเข้ามาถึงเจ็ดคน กระทั่งงานได้เสร็จสิ้นลงอย่างรวดเร็ว จนเป็นที่พอพระราชหฤทัยจึงพระราชทานนามให้ว่า เจ็ดเสมียน บ้างก็เล่าว่า เนื่องจากแถวนี้มีจระเข้มากถึงขนาดต้องเกณฑ์เสมียนเจ็ดคนมานับก็ยังไม่ถ้วน หรืออีกเรื่องเล่าหนึ่งว่าไว้คือ เดิมทีที่นี่มีเสมียนซึ่งคอยให้บริการประชาชนอยู่เจ็ดคน เลยเรียกตามๆ กันมาในสิ่งที่เป็นว่า บ้านเสมียนเจ็ดคน ต่อมาก็กลายเป็น บ้านเจ็ดเสมียน ไป และนี่ก็เป็นบางส่วนของชื่อที่มีการสันนิฐานกันไว้

    จากที่เราได้ไปสัมผัสมา บอกได้เลยว่าชุมชนแห่งนี้มากด้วยความเรียบง่ายมาก หากแต่ในทุกวันพุธ ศุกร์ เสาร์และอาทิตย์ ช่วงบ่ายแก่ๆ เรื่อยไปจนถึงเย็นย่ำ ลานตรงกลางระหว่างห้องแถวไม้ริมน้ำแม่กลองจะแปลงสภาพเป็นตลาดนัดย่อมๆ เรื่อยไปจนถึงบริเวณหน้า วัดเจ็ดเสมียน เมื่อลงเดินสำรวจอยู่หลายรอบ สินค้าที่เห็นก็คล้ายกับตลาดสดตามต่างจังหวัดทั่วไป มีตั้งแต่ข้าว­ของเครื่องใช้ วัตถุดิบปรุงอาหารสด ทั้งผัก ปลา ผลไม้ หรือแม้แต่เมนูอาหารคาวหวานทำสำเร็จ รวมไปถึงเมนูที่เพิ่งเคยเห็นครั้งแรกนั่นก็คือ ยำกบ ซึ่งเป็นการนำกบไปย่าง แล้วเอามายำในรสชาติจัดจ้าน ส่วนจะถูกใจได้มากน้อยอย่างไรคงต้องหาโอกาสไปลองลิ้มกันดู อีกทั้งสิ่งที่เป็นของขึ้นชื่อและต่างก็รู้จักในวงกว้างนั้นแน่นอนว่าต้องเกี่ยวเนื่องกับอาหารการกิน ไม่ว่าจะเป็น ไชโป๊ว หลากรูปแบบ หรือแม้แต่ เค้กมะพร้าวอ่อน และ มะขามเทศมัน ซึ่งถ้าถามว่าดังขนาดไหนนั้น ก็ถึงขนาดที่ว่าคำขวัญของตำบลแห่งนี้มีชื่อของทั้ง 3 อย่างอยู่รวมกันก็คือ “ถิ่นไชโป๊วหวาน โจษขานเค้กมะพร้าวอ่อน สุดยอดมะขามเทศมัน สีสันงานประเพณีแห่ดอกไม้ ” นี่จึงเป็นเครื่องหมายการันตีถึงของดีอีกอย่างหนึ่งของเจ็ดเสมียน

    • Posts-4
    theTripPacker •  November 15, 2013
    • Posts-5
    theTripPacker •  November 15 , 2013

    ขณะที่ฝั่งตรงกันข้ามกับพื้นที่วัดและตลาดนั้นก็คือ สถานีรถไฟเจ็ดเสมียน สถานีเล็กๆ ซึ่งมีเพียงขบวนรถธรรมดาไม่กี่ขบวนต่อวันเท่านั้นที่จอดรับส่งผู้โดยสาร และตรงจุดนี้นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปคู่กับป้ายจนกลายแลนด์มาร์คอีกแห่งของที่นี่ไปแล้ว ทั้งนี้ทุกวันเสาร์สิ้นเดือนจะมีกิจกรรมการแสดงต่างๆ รวมถึงงานศิลปะและอื่นๆ โดยได้ผู้จุดประกายอย่าง ครูนาย มานพ มีจำรัส พร้อมกับ ครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน แห่ง ภัทราวดีเธียเตอร์ และยังเป็นต้นกำเนิดของ สวนศิลป์ บ้านดิน  และที่ขาดเสียมิได้ก็คือความร่วมมือจาก ชุมชนเจ็ดเสมียน  จนเกิดเป็นงาน All About Arts สืบสานงานศิลป์ ภูมิปัญญาคนของแผ่นดิน” ซึ่งสามารถเรียกความคึกคักให้กลับมายังชุมชนเก่าแก่ริมน้ำแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี และใครที่อยากจะมาสัมผัสก็ลองจัดสรรเวลาในช่วงวันเสาร์สิ้นเดือน หรือเสาร์สุดท้ายของเดือนน่าจะลงตัวกว่า เพราะไหนจะได้สัมผัสทั้งวิถีชีวิตของผู้คน บ้านเรือนไม้เก่า และยังจะได้สัมผัสกับกิจกรรมทางด้านศิลปะในบรรยากาศอันแสนเรียบง่ายได้อีกด้วย

    • Posts-6
    theTripPacker •  November 15 , 2013

    Note

    - หากเป็นในช่วงวันเสาร์สุดท้ายของเดือน บรรยากาศจะคึกคักกว่าวันปกติมาก เพราะไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ซึ่งจัดแสดงภาพถ่ายเก่าๆ ของชุมชน รวมถึงกิจกรรมการแสดงทางศิลปะต่างๆ ก็มีให้ได้ชม

    - การแสดงต่างๆ จะจัดขึ้นบริเวณลานโพธิ์ ซึ่งติดบริเวณท่าน้ำพอดี

    - บรรดาร้านขายของกินขึ้นชื่อนั้นไม่ได้อยู่บริเวณตัวตลาด แต่ตั้งอยู่ถัดออกไปเล็กน้อย เป็นต้นว่า เค้กมะพร้าวอ่อนก็อยู่เยื้องกับกับสถานีรถไฟ หรือไชโป๊วเจ้าดังก็อยู่ถัดจากตัวตลาดไปเล็กน้อย ซึ่งสามารถสอบถามผู้คนแถวนั้นได้

    • Posts-7
    theTripPacker •  November 15, 2013

    Editor's Comment

    • Strong point:
    • บรรยากาศของชุมชนโดยรวม ซึ่งยังคงความดั้งเดิมอันเรียบง่ายไร้การปรุงเอาไว้ได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงเรื่องราวและความเป็นมาของชุมชนแห่งนี้ก็ค่อนข้างน่าสนใจ และที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันนั่นก็คือของอร่อยขึ้นชื่อไม่ว่าจะเป็น ไชโป๊ว เค้กมะพร้าวอ่อน หรือแม้แต่มะขามเทศ
    • Weak point:
    • ผู้ที่อยากมาสัมผัสความเป็นชุมชนเจ็ดเสมียนควรมีความสนใจความเป็นท้องถิ่นจริงๆ เนื่องจากวิถีความเป็นอยู่ซึ่งแตกต่างจากสังคมเมืองที่คนส่วนใหญ่อาศัย บางครั้งหากผู้มาเยือนไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งที่สถานที่เป็นอยู่ละก็ คงไม่เกิดความรู้สึกร่วมและอาจจะเบื่อขึ้นมาก็เป็นได้
    • Conclusion:
    • สำหรับใครที่อยากมาเที่ยวชุมชนเจ็ดเสมียนแล้วละก็ ขอบอกกันแต่เนิ่นๆ ว่าควรมีความสนใจและอยากสัมผัสบรรยากาศและตัวตนของชุมชนนี้จริงๆ เพราะความเรียบง่ายและดั้งเดิมของตัวสถานที่ซึ่งต่างจากวิถีคนเมือง จึงอาจต้องใช้เวลาปรับอยู่นิดหน่อย แต่ถ้าใครที่ชื่นชอบสไตล์นี้เป็นทุนเดิมอยู่รับรองว่าต้องจะถูกใจอย่างไม่ต้องสงสัย
    Score
    • Posts-8
    theTripPacker •  November 15 , 2013

    ข้อมูลทั่วไป

    ที่อยู่ : หมู่ 3 ตำบลเจ็ดเสมียน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

    GPS : 13.636167, 99.820267

    Website : http://chetsamian.org/

    Facebook : เจ็ดเสมียน

    เวลาทำการ : ตลาดนัดชุมชนจะมีทุกวันพุธ ศุกร์ เสาร์และอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 15.00 - 19.00 น. โดยประมาณ

    ช่วงเวลาแนะนำ : ทุกวันเสาร์สิ้นเดือน เพราะจะมีตลาดและการแสดงศิลปะต่างๆ

    ไฮไลท์ : ความดั้งเดิมของวิถีชีวิตผู้คน และบรรยากาศเก่าแก่ของตึกแถวไม้

    กิจกรรม : เที่ยวชมพร้อมกับเรียนรู้วิถีความเป็นอยู่ของชุมชนแห่งนี้ รวมทั้งชมการแสดงทางศิลปะต่างๆ

    • Posts-9
    theTripPacker •  November 15 , 2013

    วิธีการเดินทาง

    จากกรุงเทพฯ สามารถใช้เส้นทางถนนเพชรเกษม มุ่งหน้ามายังจังหวัดราชบุรี กระทั่งให้เลี้ยวขวาแยกเข้าถนนหนองบางงู-เจ็ดเสมียน จากนั้นวิ่งไปเรื่อยๆ จนสุดทาง จนเมื่อข้ามทางรถไฟแล้วจะเจอวัดเจ็ดเสมียน จากนั้นให้เลี้ยวซ้ายก็จะพบตัวตลาดเก่าอยู่ทางขวามือ


    • Posts-10
    theTripPacker •  November 15, 2013
  1. View more