เที่ยวสุราษฎร์น่ายล 6 ชุมชนต้องลองสัมผัส
หากบอกใครว่าจะไปเที่ยวสุราษฎร์ เชื่อเถอะเกือบร้อยมักถามเรากลับว่าไป สมุย พะงัน หรือเขาสกเพราะปฏิเสธไม่ได้ครับว่าเหล่านั้นคือสถานที่เที่ยวยอดฮิตติดชาร์ตของจังหวัด สักครั้งในชีวิตควรหาโอกาสไปสัมผัสความงาม
ทว่าผมไม่อยากให้มองแค่มุมเด่นของสุราษฎร์ เพราะในอีกมุมที่นี่ยังมีที่น่าเที่ยวอีกเพียบ โดยเฉพาะการเที่ยวชุมชน วิถีชีวิต ซึ่งนอกจากจะได้เรียนรู้อะไรมากมาย ยังเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านและผู้คนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง
เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสใช้เวลาท่องเที่ยวในชุมชน 6 แห่งคือ บางใบไม้ ลีเล็ด คลองน้อย พุมเรียง เลม็ด และท่าฉาง เป็นทริปซึ่งประทับใจมาก สนุกสนานมาก และได้ความรู้กลับมามากมาย
ต้องขอบคุณกิจกรรมโครงการ “พัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืนในชุมชนชายฝั่งสุราษฎร์ธานี” ซึ่งสนับสนุนโดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และดำเนินงานโดยสถาบันคีนันแห่งเอเซีย งานดีๆ แบบนี้ต้องขอมาเล่าต่อล่ะครับ
เที่ยวชุมชนอาจไม่หรูหราเหมือนเที่ยวห้าดาว แต่บางครั้งเราอาจได้ความอิ่มใจและรอยยิ้มกลับมามากมายเกินคาดคิดนะครับ
--------------------------------------------------
ชุมชนบางใบไม้
ต.บางใบไม้ อ.เมือง
ชาวสุราษฎร์เรียกพื้นที่ย่านนี้ว่า “คลองร้อยสาย” เพราะเต็มไปด้วยลำคลองธรรมชาติสาขาแม่น้ำตาปีนับไม่ถ้วน หรืออีกชื่อคือ “ในบาง” หมายความประมาณว่าย่านในคลอง ถือเป็นพื้นที่เปี่ยมด้วยเสน่ห์ ผู้คนยังคงวิถีชีวิตดั้งเดิมเรียบง่าย และชุมชนบางใบไม้คือหนึ่งในนั้น
ที่นี่เป็นชุมริมคลอง ชาวบ้านผูกพันกับสายน้ำมานานหลายชั่วอายุคน ถนนหนทางอาจทำให้การสัญจรทางเรือลดบทบาทลงมากและอะไรหลายอย่างเปลี่ยนไป ทว่ายังไม่หายไปเสียทั้งหมดที่บ้านบางใบไม้แห่งนี้
ทุกวันอาทิตย์ตั้งแต่เก้าโมงเช้าจนถึงราวสี่โมงเย็น นักท่องเที่ยวมีนัดกับตลาดประชารัฐบางใบไม้ เป็นตลาดน่ารักที่เปิดพื้นที่ให้คนในชุมชนมาขายสินค้า เน้นหนักไปที่ของกินอร่อยๆ ขนมพื้นถิ่น ตามสไตล์ตลาดนัด กับสินค้าที่เป็นผลผลิตในท้องที่ เช่น น้ำส้มจาก น้ำตาลจาก บอกเลยว่าต้องเตรียมท้องมาให้พร้อม
อ้อ... ใครมาเที่ยวบางใบไม้ แวะกราบสักการะหลวงพ่อข้าวสุก ประดิษฐานอยู่ภายในศาลาวัดบางใบไม้ด้วยนะ เป็นพระพุทธรูปซึ่งสร้างขึ้นจากการนำข้าวก้นบาตรมาปั้นแล้วหุ้มด้วยทองเหลือง ชาวบางใบไม้เคารพศรัทธามากๆ
ติดต่อชุมชนบางใบไม้ 081-607-4935
ราคาเรือหางยาว 500 บาทต่อลำ ไม่เกิน 5 คน หากเกิน 5 คน คิดคนละ 100 บาท ใช้เวลาท่องเที่ยวประมาณสองชั่วโมง
--------------------------------------------------
ชุมชนลีเล็ด
ต.ลีเล็ด อ.พุนพิน
ตอนนั่งเรือไปตามลำคลองพุนพิน ซึ่งสองข้างทางเต็มไปด้วยป่าชายเลนสีเขียว ทุกคนบนเรือต่างตาโตร้องว้าว ฉายาอะเซอนเมืองไทยของชุมชนลีเล็ดไม่ใช่ได้มาเพราะพูดเว่อร์ แต่สิ่งที่เห็นนั้นสวยงามมาก ถึงจริงๆ อาจเทียบอะเมซอนไม่ได้ก็เถอะ
ลีเล็ดเป็นชุมชนชาวเลที่ผูกกันกับป่าชายเลนและอ่าวบ้านดอน โดดเด่นตรงเป็นจุดรับน้ำจืดมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ (รับน้ำมาจากแม่น้ำตาปี) จึงมีความหลากหลายของพืชพันธุ์สัตว์น้ำ
กำนันประเสริฐ ชัญจุกรณ์ เล่าให้ฟังว่าสมัยก่อนป่าชายเลนที่ลีเล็ดทรุดโทรมลงเยอะ จนกระทั่งเกิดการรวมกลุ่มอนุรักษ์ขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 นับจากวันนั้นป่าชายเลนก็เริ่มฟื้นฟูขยายเพิ่มขึ้นกว่า 2,000 ไร่ รวมปัจจุบันมีพื้นที่ป่าราว 8,000 ไร่ และยังคงขยายต่อไปเรื่อยๆ
ป่าชายเลนเหล่านี้แทบไม่ต้องปลูกเพิ่ม ขอเพียงแค่อนุรักษ์อย่าตัดทำลายก็พอ เพราะที่นี่มีลักษณะพิเศษของแผ่นดินรุกทะเล หมายความว่าป่าโตขึ้นดินตะกอนมากขึ้นทำให้พื้นที่ที่เป็นน้ำน้อยลง พรรณไม้หลักบริเวณลำคลองจะเป็นต้นลำพู ส่วนบริเวณปากอ่าวเป็นแสมและโกงกาง
เมื่อล่องเรือออกจากลำคลองสู่อ่าวบ้านดอน เราจะเห็นวิถีประมงพื้นบ้านหลากหลาย วางอวน จับปลา มีรวมถึงการทำปากช้อน (ลักษณะคล้ายยอ) เพื่อดักกุ้งเคย อันเป็นวัตถุดิบสำหรับทำสุดยอดกะปิของดีแห่งลีเล็ด
สำหรับการวางลอบปูดำ ถ้าได้ตัวเล็กเกินไปก็จะปล่อยลงทะเล แต่ถ้าตัวใหญ่ๆ อย่างนี้ก็ขอแสดงความเสียใจกับพวกมันด้วยที่จะต้องกลายเป็นอาหารอร่อยของเรา
ราคาเรือหางยาว 1,500 บาทต่อลำ นั่งได้ประมาณ 8 คน
สำหรับบ้านพักแบบโฮมสเตย์ ปัจจุบันรับเฉพาะสำหรับกลุ่มศึกษาดูงานตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปเท่านั้น
--------------------------------------------------
ชุมชนคลองน้อย
ต.คลองน้อย อ.เมือง
ถึงจะชื่อว่าคลองน้อยแต่ที่นี่ไม่น้อยลำคลอง คลองน้อยเป็นอีกชุมชนในคลองร้อยสาย มีความเรียบง่ายของเสน่ห์บ้านสวนริมน้ำ เหมาะกับทั้งการเที่ยวเชิงศึกษาวิถีชุมชนชีวิต หรือมาพักผ่อนก็ได้เพราะมีโฮมสเตย์มาตรฐานให้บริการ
หนึ่งในสิ่งโดดเด่นที่สุดของชุมชนคลองน้อยคือมีโรงเรียนฝึกสอนลิงขึ้นต้นมะพร้าว ถือเป็นการรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น แถมยังแสดงความผูกพันของคนกับลิงและสวนมะพร้าวในสุราษฎร์ธานี ที่มีมาแต่โบราณช้านาน
แนะนำว่ามาที่นี่ควรนั่งเรือเที่ยว เมื่อถึงที่หมายจะได้พบการสาธิตฝึกลิงขึ้นต้นมะพร้าว ลิงพวกนี้เป็นลิงกัง คัดเลือกจากสายพันธุ์ตัวที่เชื่องไม่มีนิสัยดุร้าย เริ่มฝึกตั้งแต่อายุ 3 ปี ใช้เวลาฝึกราว 40 วัน แต่กว่าจะเก่งคล่องแคล่วจริงๆ ต้องผ่านงานร่วมปีสองปีนั่นแหละ
วิธีการฝึกแบ่งเป็นสี่ขั้นตอนครับ เข้าแป้น ห้อยปั่น ขึ้นราว ขึ้นต้น และสุดท้ายคือการแก้เชือก ขั้นตอนนี้คือสุดยอด หากเชือกพันกันลิงพวกนี้รู้ว่าจะแก้ยังไงนะ ทั้งที่บางทีเราเองยังอาจงงๆ เสียด้วยซ้ำ
ที่ศูนย์ฝึกลิงทำครบวงจรครับ รับผสมพันธุ์ลิง ฝึกลิงขึ้นมะพร้าว รับจ้างขึ้นมะพร้าว จนถึงขั้นซื้อขายลิง เริ่มทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ปัจจุบันมีลิงอยู่ทั้งหมดประมาณ 30 ตัว
หากใครอยากทำกิจกรรมเช่น ตกกุ้งแม่น้ำ ดักปลา ล่องเรือดูหิ่งห้อย สามารถติดต่อชุมชนหรือบ้านที่เข้าพักได้เลย
ราคาเรือหางยาว 1,000 บาทต่อลำ นั่งได้ประมาณ 8 คน
บ้านพักแบบโฮมสเตย์ ราคาเข้าพัก 100 บาท ต่อคน ราคาอาหารมื้อละ 120 บาท ต่อคน
--------------------------------------------------
ชุมชนพุมเรียง
ต.พุมเรียง อ.ไชยา
เรือหางยาวติดเครื่องแล่นออกไปในทะเลอ่าวบ้านดอน เห็นเกาะเล็กๆ อยู่ตรงหน้า นั่นมีชื่อว่าเกาะเสร็จ หรือเกาะสำเร็จ และเป็นสถานที่ซึ่งชาวพุมเรียงพาเรามาศึกษาธรรมชาติ ดูวิถีชีวิตของลูกทะเลแท้ๆ
พุมเรียงเป็นชุมชนลูกน้ำเค็มแห่งอำเภอไชยา มีประวัติศาสตร์มายาวนานว่าคงเคยเป็นเมืองท่าค้าขายสำคัญในอดีต แถมยังเป็นบ้านเกิดของท่านพุทธทาสภิกขุ ภิกษุผู้เป็นที่เคารพรักของชาวไทยเรา
เกาะเสร็จเป็นเกาะสันดอนเล็กๆ กลางอ่าวบ้านดอน ข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งใช้ชื่อว่าเกาะหัวเสร็จ พื้นที่แค่ 0.012 ตางรางกิโลเมตร แต่ถึงจะเล็กแค่นี้ก็มีความสำคัญเพราะเปรียบเสมือนป่าชายเลนกลางทะเล เป็นแหล่งวางไข่อนุบาลสัตว์น้ำมากมาย
เสร็จสรรพจากเที่ยวเกาะเสร็จก็กลับขึ้นฝั่ง ชุมชนมีการจัดทำธนาคารปูม้า หมายถึงนำปูไข่ที่จับได้มาเพาะเลี้ยงจนกระทั่งออกไข่แล้วปล่อยลูกปูคืนทะเล ด้วยวิธีแบบนี้เราจะมีปูกินไปอีกนาน ไม่ใช่เจอปูไข่ก็จับเกลี้ยงกินอร่อยจนไม่เหลือทำพันธุ์
และหากอยากกินซีฟู้ดสดๆ เขามีให้จัดเต็ม แต่สำหรับผมที่น่าสนกว่าคือไข่หมก เป็นการถนอมอาหารด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น คือปกติชาวเลจะใช้ไข่ขาวมาเคลือบแหหรืออวน หากทิ้งไข่แดงเปล่าๆ ก็น่าเสียดาย เลยเอาไข่แดงสองใบมาประกบกันแล้วหมักด้วยเกลือ พอจะกินก็ปิ้งย่างให้กลิ่นหอม ทานกับอะไรก็อร่อย
ตอนนี้ชุมชนพุมเรียงยังไม่พร้อมเปิดโฮมสเตย์รับนักท่องเที่ยว แต่เวลาเพียงหนึ่งวันก็น่าจะเป็นเดย์ทริปทำให้เราประทับใจได้ไม่ยากครับ
ราคาเรือหางยาวเที่ยวเกาะเสร็จ 1,200 บาทต่อลำ นั่งได้ประมาณ 5 คน
--------------------------------------------------
ชุมชนท่าฉาง
ต.เขาถ่าน อ.ท่าฉาง
เรือหางลำใหญ่ค่อยๆ แล่นไปตามลำคลองท่าฉางออกสู่อ่าวบ้านดอน นั่นแหละเราจึงได้เห็นภาพขนำน้อยใหญ่เรียงรายอยู่กลางทะเล ที่นี่เป็นหนึ่งในฟาร์มหอยแครงใหญ่ที่สุดของบ้านเรา และเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่บอกเลยว่าน่าสัมผัสมาก
จุดเริ่มต้นทำฟาร์มหอยแครงของชาวท่าฉาง เกิดจากเมื่อราวยี่สิบปีก่อนที่มีกฎหมายห้ามทำอวนรุน ชาวบ้านจึงหันมาจับจองพื้นที่ทำฟาร์มหอยแครง เพราะพื้นที่อ่าวบ้านดอนมีความสมบูรณ์เหมาะกับการทำฟาร์มหอยแบบธรรมชาติ และยึดเป็นอาชีพจนถึงทุกวันนี้ ส่วนการทำอวนรุนที่ถือเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมขาติอย่างรุนแรงก็ค่อยๆ ลดลงและหมดไปจากทะเล
ท่าฉางเป็นชุมชนซึ่งได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวมาแล้ว หลังเริ่มต้นการอนุรักษ์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ปัจจุบันริมชายฝั่งมีพื้นที่ป่าชายเลนกว่า 4,700 ไร่ เราสามารถเหมาเรือเที่ยวชมความสมบูรณ์ของแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ หรือรวมกิจกรรมปลูกป่า
แต่ถึงอย่างนั้นไฮไลท์การท่องเที่ยวย่อมหนีไม่พ้นการนั่งเรือออกไปลากหอยแครง เราจะได้เห็นวิธีการเก็บหอยแบบใกล้ชิด ซึ่งยามน้ำขึ้นก็เก็บอีกแบบ ยามน้ำลงก็เก็บอีกแบบ
สำหรับกิจกรรมบนฝั่งที่ท่าฉาง ยังมีการอาบน้ำร้อนธรรมชาติ เดินทางเข้าได้ทางสำนำสงฆ์ธารน้ำร้อน เป็นบ่อน้ำร้อนซึ่งปราศจากการปรุงแต่ง บรรยากาศชาวบ้านมากๆ คนในพื้นที่จะแวะเวียนมาแช่น้ำร้อนเพื่อสุขภาพช่วงเย็นของทุกวัน นอกจากนี้ยังสามารถมาพอกโคลนดำซึ่งมีแร่ธาตุบำรุงผิวอย่างดี
เที่ยวสนุกแบบนี้เป็นทีเด็ดของท่าฉางเลยครับ
ราคาเรือหางยาวเล็ก 1,500 บาท นั่งได้ไม่เกิน 7 คน
ราคาเรือหางยาวใหญ่ 2,500 บาท นั่งได้ประมาณ 20 คน
ราคาพักฟาร์มสเตย์ขนำกลางทะเล คนละ 200 บาท อาหารกลางวัน/เย็น มื้อละ 200 บาทต่อคน และอาหารเช้ามื้อละ 80 บาท
--------------------------------------------------
ชุมชนเลม็ด
ต.เลม็ด อ.ไชยา
เลม็ด ออกเสียงว่า ละ-เม็ด เหมือนกับเกาะเสม็ด ชาวบ้านหัวเราะร่าบอกว่าหน้าซองจดหมายจ่าผิดว่าตำบลเสม็ดเป็นประจำ แต่ที่นี่ไม่ได้มีอะไรใกล้เคียงกับเกาะเสม็ดสักนิด เพราะเป็นชุมชนลูกทุ่ง อยู่กับท้องนาสีเขียวและเล้าเป็ดก๊าบก๊าบ
ชุมชนเลม็ดขึ้นชื่อเรื่องการทำไข่เค็ม จุดที่เราไปเที่ยวคือที่หมู่ 5 เป็นเจ้าของแบรนด์ชื่อว่าไข่เค็ม อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุข) ขอบอกว่าหากนึกถึงไข่เค็มไชยาให้นึกถึงที่นี่ก่อนเลย
การรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่หมู่ 5 ต้องย้อนไปสักสิบห้าปีก่อน เมื่อเกิดวิกฤตทำนาเพราะหอยเชอรี่ระบาด เกษตรจังหวัดเลยหันมาส่งเสริมการเลี้ยงเป็ด เลี้ยงกันมากเข้าไข่เป็ดก็ล้นตลาด เลยเกิดความคิดจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจทำไข่เค็ม พร้อมพัฒนาสูตรจนกลายเป็น OTOP ห้าดาวขึ้นชื่อ
มาถึงที่แล้วสามารถเยี่ยมชมวิธีการทำไข่เค็มกันแบบคาตา ทางกลุ่มจัดเวรสมาชิกมาทำไข่เค็มกันทุกวัน คัดขนาดไข่ด้วยมือ พอกโคลนผสมเกลือ พอกแกลบ เก็บลงกะละมัง หนึ่งวันทำกันเป็นพันฟอง เพราะยอดออร์เดอร์สั่งเข้ามาเยอะจริงๆ
อีกหนึ่งอย่างน่าสนใจคือที่นี่เป็นต้นกำเนิดข้าวหอมไชยา ข้าวที่มีเรื่องเล่ามาแต่รุ่นปู่รุ่นทวดว่าหอมอย่างยิ่ง ตอนออกรวงหอมทั่วทุ่ง ตอนหุงข้าวก็หอมทั่วบ้าน น่าเสียดายที่ปัจจุบันพันธุ์ข้าวหอมไชยกำลังสูญหาย แต่ถ้าใครมาเที่ยวช่วงทำนา ที่นี่มีการปลูกแปลงสาธิตให้เราชม รวมทั้งเยี่ยมชมโรงสีขาว และการผลิตข้าวไรซ์เบอร์รี่ด้วย
อ้อ... ไข่เค็ม อสม. ไม่มีวางขายตามร้านของฝากเหมือนไข่เต็มยี่ห้ออื่นนะ อยากจะซื้อต้องมาที่นี่ หรือออร์เดอร์สั่งชุมชนโดยตรง เพราะแค่นี้ก็ทำกันมือเป็นระวิงแล้ว
มาซื้อไข่เค็มแล้วแนะนำให้แวะสักการะพระบรมธาตุไชยา หนึ่งในพระเจดีย์สำคัญของทางภาคใต้ที่อยู่ใกล้ๆ ด้วยล่ะ
--------------------------------------------------
ใครอยากคุยกับผมเรื่อยเปื่อยเรื่องท่องเที่ยว สอบถามข้อมูล (ถ้าผมมีให้นะ) หรือชวนเที่ยว ยินดียิ่งนะครับ
www.facebook.com/alifeatraveller
----------------------------------------------------