ไหว้พระนอน ขอพรพระนั่ง สมหวังพระยืน @ สิงห์บุรี

“สิงห์บุรี” เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่หลายๆ คนมองเป็นเพียงเมืองผ่าน และผมเองก็เป็นหนึ่งในหลายๆ คนนั้นเช่นกัน ต้องขอบอกก่อนเลยว่า ผมพำนักพักพิงอยู่ลพบุรีมาตั้งแต่เด็กๆ และสิงห์บุรี ถือเป็นบ้านพี่เมืองน้องของลพบุรีเพราะพื้นที่ของทั้งสองจังหวัดอยู่ติดกัน ผมขอสารภาพเลยว่า กว่า 45 ปีที่อยู่ลพบุรี ผมไป “เที่ยว” สิงห์บุรี ไม่น่าจะเกิน 3 ครั้ง ส่วนใหญ่จะใช้สิงห์บุรีเป็นทางผ่านไปยังจังหวัดอื่นๆ เสียมากกว่า จนเมื่อ “สิงห์บุรี” เป็นหนึ่งใน 55 จังหวัดที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ประกาศให้เป็นเมืองรอง ตามแคมเปญ “เที่ยวเมืองรอง” ผมเลยเริ่มหาข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวของสิงห์บุรีดู และแทบไม่น่าเชื่อ!!! สิงห์บุรี มีอะไรมากกว่าที่ผมคิดจริงๆ สิงห์บุรีมีอะไรที่น่าสนใจ ลองตามผมมาเลยครับ

ขอเริ่มที่ อ.เมืองสิงห์บุรี กันก่อน จุดแรกที่จะแนะนำ นั่นคือ “วัดสว่างอารมณ์” ครับ

วัดสว่างอารมณ์ หรือ วัดบางมอญ ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตพื้นที่ตำบลต้นโพธิ์ สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ.2418 โดยพระครูสิงหมุนี (เรือง) เป็นผู้สร้างวัดและเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก วัดสว่างอารมณ์นับเป็นศูนย์รวมของศิลปะหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การก่อสร้างโบสถ์ วิหารศาลา และโดยเฉพาะการปั้นพระพุทธรูปเหมือน ที่สืบทอดวิชาปั้นพระพุทธรูปมาจากตระกูลบ้านช่างหล่อธนบุรีครับ เนื่องจากวัดอยู่ใกล้กับแม่น้ำเจ้าพระยา บางปีต้องประสบกับปัญหาอุทกภัย น้ำท่วมโบสถ์ ท่วมวิหาร ทำให้เกิดความเสียหายพอสมควรครับ ภายในโบสถ์และวิหารเก่า มีรอยพระพุทธบาทจำลอง รวมถึงจิตกรรมฝาผนัง ที่คงเหลือให้เห็นอยู่เพียงบางส่วนเท่านั้นครับ

และสิ่งที่ผมขอยกให้เป็นไฮไลท์ของวัดสว่างอารมณ์ อยู่ที่อาคารหลังนี้ครับ ที่ชั้น 2 เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ ซึ่งพระครูสิงหมุนี หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า หลวงพ่อเรือง เป็นผู้รวบรวมตัวหนังใหญ่ ซึ่งเป็นของเก่าแก่ น่าจะสืบทอดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มาไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ครับ

นอกจากนี้ยังมีช่างพื้นบ้านยังช่วยกันทำตัวหนังขึ้นมาใหม่เป็นระยะๆ เพื่อเสริมตัวหนังเก่าซึ่งขาดหายและชำรุด และในสมัยนั้นมีนายหนังเร่ ซึ่งใช้เรือเป็นพาหนะตามลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาชื่อ ครูเปีย ได้มาตั้งหลักและแสดงที่วัดสว่างอารมณ์ และได้นำตัวหนังใหญ่ซึ่งเป็นสมบัติของท่านถวายหลวงพ่อเรือง ครูเปียยังได้สืบทอดการแสดงหนังใหญ่ให้แก่ลูกหลานของวัดสว่างอารมณ์ด้วยครับ

และอีกหนึ่งบุคคลสำคัญของวัดสว่างอารมณ์ นั่นคือ ขุนบางมอญกิจประมวญ (นวม ศุภนคร) ท่านได้สืบทอดการแสดงหนังใหญ่และสั่งสอนลูกหลานให้แสดงหนังใหญ่สืบต่อมา ถือว่าช่วงนั้นเป็นยุคทองของหนังใหญ่ก็ว่าได้ครับ

ต่อมาความนิยมการแสดงหนังใหญ่เริ่มลดน้อยลง อาจเป็นเพราะความเจริญก้าวหน้าของการแสดงยุคใหม่ที่แพร่หลายเข้ามาจากต่างประเทศ และปัจจัยอื่นๆ หลายๆ อย่าง

ปัจจุบันได้มีการฟื้นฟูการแสดงหนังใหญ่ ซึ่งถือเป็นการแสดงที่เก่าแก่ที่สุด บรรดาลูกหลานของชาววัดสว่างอารมณ์ ได้รวมตัวกัน โดยมีกำนันฉอ้อน ศุภนคร เป็นนายหนังคนปัจจุบัน ตัวหนังปัจจุบันได้ทำการซ่อมแซมไปแล้วประมาณ 200 กว่าตัว และมีการแกะใหม่โดยนายอาวุธ ศุภนคร อีกประมาณ 40 ตัวครับ

พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่จะเปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน โดยจันทร์-ศุกร์ เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. สำหรับ เสาร์-อาทิตย์ เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 08.30-17.00 น. ถ้าท่านอยากให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้คนไทยได้เข้าชมกันไปนานๆ สามารถช่วยกันบริจาคเป็นค่าไฟได้นะครับ จะมีตู้รับบริจาคอยู่บริเวณทางเข้าพิพิธภัณฑ์ครับ เงินสิบบาทยี่สิบบาทในมือท่าน อาจจะดูน้อยนิด แต่เงินเพียงน้อยนิดของท่านนี่แหล่ะที่จะช่วยสานต่อลมหายใจของพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่แห่งนี้ ให้อยู่คู่เมืองไทยไปอีกนาน

ช่วงที่ผมไป มีเด็กๆ ซึ่งดูแล้วน่าจะเป็นลูกหลานของวัดสว่างอารมณ์ได้เข้ามาสอบถามว่า ต้องการดูการเชิดหนังหรือไม่ ผมเองไม่รอช้ารีบพยักหน้าแทนคำตอบไปอย่างรวดเร็ว เด็กๆ จัดแจงแต่งตัว นุ่งโจงแดง พร้อมแสดงให้คณะของผมได้ชม ถึงแม้การแสดงจะไม่สมบูรณ์แบบ ตื่นตาตื่นใจเท่ากับที่ผมเคยชมที่วัดขนอน จ.ราชบุรี แต่การชมในครั้งนี้ผมได้เห็นถึงความตั้งใจของเด็กๆ ที่ต้องการจะสืบทอดการแสดงหนังใหญ่ให้อยู่คู่กับวัดสว่างอารมณ์ไปอีกนานครับ หากใครที่มีโอกาสได้ไปชมหนังใหญ่ที่วัดขนอน จ.ราชบุรีกันมาแล้ว ผมอยากให้ลองเปลี่ยนบรรยากาศมาชมหนังใหญ่ที่วัดสว่างอารมณ์ จ.สิงห์บุรีกันดูบ้างนะครับ มาช่วยกันสานต่อเจตนารมณ์ของชาวบ้านวัดสว่างอารมณ์กันครับ

ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า ที่สิงห์บุรีมีการทำหนังใหญ่ด้วย จนเมื่อผมได้ไปฟังการบรรยายที่พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ที่วัดขนอน จ.ราชบุรี  (เคยไปมา 3 ครั้ง) ถึงได้รู้ว่า ปัจจุบันสามารถชมพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ได้เพียงไม่กี่ที่แล้ว และหนึ่งในนั้นคือหนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ครับ

จากวัดสว่างอารมณ์ ไปต่อกันที่ตำบลบางกระบือ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “วัดประโชติการาม” ครับ

วัดประโชติการามเป็นวัดเก่าแก่คู่เมืองสิงห์บุรี เป็นที่ประดิษฐานพระยืนคู่ แห่งเดียวในเมืองไทย วัดนี้ถูกรื้อและบูรณะในปี 2552 แล้วเสร็จเมื่อปี 2556 ผมได้มีโอกาสได้สนทนากับพระครูเกษม ธรรมโชติ เจ้าอาวาสวัดประโชติการาม ท่านได้เล่าถึงความเป็นมาของวัดประโชติการามให้ฟังว่าได้มีการบูรณะวิหารหลวงพ่อสิน หลวงพ่อทรัพย์ และมณฑปที่เป็นพระยืนคู่บ้านคู่เมืองของชาวตำบลบางกระบือมาช้านาน จากการขุดแนวรอบวิหารหลวงพ่อสินและมณฑปหลวงพ่อทรัพย์ลึกลงไป 3 เมตร ทำให้พบแนวกำแพงโบราณเป็นลายปูนปั้นช่อฟ้า ใบระกา และแนวกำแพงที่เรียกว่าฐานไพที ที่ใช้เป็นที่ล้อมรอบอุโบสถ วิหาร หรือมณฑป สมัยกรุงสุโขทัย โดยมีอายุกว่า 700 ปี ยาวประมาณ 20 เมตร มี 2 ชั้น อีกชั้นหนึ่งคาดว่าเมื่อบริเวณวัดถูกน้ำท่วมบ่อยๆ ชาวบ้านอาจมาสร้างกำแพงอีกชั้นหนึ่งและนำดินมาถมอัดเพื่อไม่ให้น้ำซึมเข้ามาท่วมองค์พระ หรือขยายแนวกำแพงเพื่อที่จะขยายแนวพระจะได้เดินจงกลมได้สะดวกขึ้น อีกทั้งหลังแนวพระอุโบสถหลังเก่าพบแนวเจดีย์เป็นแนวปูนฐานแปดเหลี่ยม สันนิษฐานว่าเจดีย์องค์นี้มีความสูงประมาณ 18 เมตร แต่มีร่องรอยการขุดกรุพระไปเมื่อประมาณ พ.ศ.2500 ครับ  

และสิ่งที่เป็นหนึ่งเดียวของประเทศไทย นั่นคือพระยืนคู่ หลวงพ่อทรัพย์ และหลวงพ่อสิน พระพุทธรูปปางห้ามญาติ พระประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันจันทร์ครับ พระทั้งสององค์นี้จะยืนซ้อนกัน โดยพระทรัพย์จะอยู่ด้านหลังของพระสิน หากใครไม่รู้ประวัติของวัดนี้มาก่อน ก็จะมาไหว้สักการะพระสินเพียงองค์เดียว เนื่องจากมองไม่เห็นพระทรัพย์ครับ

ภาพที่เห็นนี้คือพระทรัพย์ ท่านเจ้าอาวาสบอกว่าเดิมพระทรัพย์และพระสินอยู่คนละอาคาร แต่หลังจากวัดได้รับการบูรณะแล้ว ได้ผนวกรวมให้พระทรัพย์และพระสินอยู่ในอาคารเดียวกัน ปัจจุบันพระทรัพย์เริ่มเอนตัวมาด้านหน้า เหตุมาจากปัญหาน้ำท่วมและการขยายถนน ที่เกิดแรงสั่นสะเทือน จึงเป็นเหตุให้พระทรัพย์เริ่มเอนครับ

สำหรับองค์นี้คือหลวงพ่อสินครับ

ภายหลังจากการบูรณะเสร็จสิ้น ท่านเล่าว่า ได้เห็นถึงปริศนาธรรม องค์พระสินองค์เล็ก แต่กลับอยู่ในห้องที่ใหญ่โตมโหฬาร แต่หลวงพ่อทรัพย์องค์หลัง ซึ่งองค์ใหญ่กว่า กลับอยู่ในห้องที่อึดอัดและคับแคบ แขนทั้งสองข้างติดผนัง แม้แต่เศียรท่านก็ติด ท่านยังสามารถยืนอึดอัดมาได้กว่า 700 ปี หากใครมีปัญหาอึดอัดขัดเคืองก็ให้มาระบาย และขอพร 1 เรื่อง ท่านบอกว่าไม่ได้แนะนำให้มาขออะไร เพราะหากขอแล้วได้ทุกอย่างตามที่ต้องการ บ้านเราจะไม่มีที่เก็บ เพราะคนเรามีความต้องการแบบไม่สิ้นสุด เพราะคนเข้าวัดมีแค่ 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือผู้สบายใจ พวกสบายใจไหว้พระแล้วยิ้ม ดูศิลปะ ดูวิธีการสร้าง ดูความศรัทธาของคนโบราณที่ทำ อนุโมทนาบุญ อีกกลุ่มคือพวกที่มีทุกข์น้อยๆ ไปแต่ละวัดก็จะขอพรมั่วไปหมด ยิ่งไปมากวัดยิ่งมั่ว มาที่วัดนี้ท่านจึงให้ไประบายทุกข์เสียก่อน คนเราเมื่อระบายความทุกข์ ใจเราจะโล่งไประดับหนึ่ง เมื่อใจเราโล่ง สติก็จะกลับมา เมื่อสติกลับมาก็จะรู้ถึงสาเหตุของปัญหา แล้วให้หลวงพ่อไปช่วย ขอพรหลวงพ่อนั่นคือกำลังใจ

ท่านยังเล่าต่อว่าจากการบูรณะอิฐเอง ทำให้เจอเกศพระโบราณ จึงได้คิดสร้างพระนั่งขึ้นมา โดยถอดแบบวัดไตรมิตร ภายหลังจากสร้างเสร็จแล้ว ได้ทำการตั้งชื่อว่า “พระพุทธสุวรรณมงคล สัมฤทธิ์ผล ทันใจ” ทำให้วัดแห่งนี้ นอกจากจะมีพระทรัพย์ พระสินแล้ว ยังมีพระทันใจเกิดขึ้นอีกหนึ่งองค์ ลักษณะของพระทันใจเป็นพระนั่ง มือขวาอยู่ระดับหัวเข่าขวา มือซ้ายอยู่ที่หน้าตัก เวลาขอพรให้ลุกขึ้นยืนแล้วก้มเอาหน้าผากกราบไปตรงปลายนิ้วท่านแล้วสอดนิ้วมือเราไว้ที่ใต้มือของท่าน แล้วก็ลูบขอพร จะได้กำลังใจ ผมสังเกตว่าท่านจะไม่ได้พูดว่าจะได้พรดั่งหวัง แต่ท่านจะใช้คำพูดว่า “กำลังใจ” ท่านคงกำลังสอนว่า หากเรานั่งกินนอนกิน รอพรวิเศษจากพระ คงเป็นไปไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างคงต้องลงมือทำ พรที่ขอไป คือกำลังใจที่จะทำให้เราลุกขึ้นทำในสิ่งที่เราต้องการครับ

จากวัดประโชติการาม ไปต่อกันที่ “วัดกระดังงาบุปผาราม” วัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานว่าผู้สร้างน่าจะเป็นนายทหารเอกของพระมหาธรรมราชาธิราช พระราชบิดาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งสร้างวัดนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์ของการไถ่บาปจากการสู้รบและเป็นที่รวมอัฐิของบรรพบุรุษ พร้อมท่านยังได้ลาบวชเป็นภิกษุที่วัดนี้ และเป็นที่รู้จักกันดีว่า “หลวงพ่ออึ่ง” ครับ

ในวัดกระดังงาบุปผารามมีสิ่งที่น่าสนใจอยู่หลายจุดเลยครับ อย่างจุดแรกเป็นโบสถ์ทรงสมัยใหม่ที่สร้างอยู่บนฐานศาลาการเปรียญหลังเก่าครับ

เจดีย์ยุทธหัตถี ทรงระฆังคว่ำแบบลังกา คล้ายเจดีย์สมัยอยุธยาตอนต้น มีซุ้มทรงระฆังตั้งแต่ปล้องไฉนขึ้นไป นับว่าเป็นเจดีย์ที่มีความสมบูรณ์ที่สุดในบรรดาเจดีย์ที่สร้างขึ้นในสมัยเดียวกัน และกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว ใกล้ๆ กันมีเสาหงส์โบราณ เหลืออยู่เพียงเสาเดียว แต่ภายหลังได้มีการสร้างเสาหงส์ขึ้นมาอีก 1 ต้น ตั้งอยู่เคียงข้างกันครับ

พลับพลา ที่ประทับ ไม่ทราบว่าก่อตั้งในสมัยใด และสร้างไว้เพื่อประโยชน์อะไร

วิหารมหาอุตม์ ภายในวิหารแห่งนี้ผมได้มีโอกาสสนทนากับท่านเจ้าอาวาสด้วย ท่านได้อธิบายลักษณะวิหารมหาอุตม์แห่งนี้ให้ฟังว่า เป็นวิหารที่มีทางเข้าแต่ไม่มีทางออก โบราณบอกไว้ว่าวิหารมหาอุตม์มีไว้ปลุกเสกของเมื่อคราวออกรบ ด้านในจะประดิษฐานหลวงพ่ออึ่งปากแดง พร้อมด้วยพระพุทธรูปทั้งหมด 22 องค์ มีลักษณะเด่นที่เป็นพุทธศิลป์ในสมัยสุโขทัยต้นๆ คือหลวงพ่อปากแดง จากการสำรวจของสำนักโบราณคดีบอกว่า หลวงพ่อปากแดงมีพระเนตรที่มองไกล เป็นนัยว่า ณ เบื้องหน้าโน้น คือให้มองอนาคต ไม่มองปัจจุบัน มีพระโอษฐ์สีแดง มีพระนาสิกเล็ก มีพระขนงโก่ง มีพระกรรณที่แผ่ สามารถฟังได้ทุกเรื่อง โดยพระกรรณขวาจะยาวกว่าด้านซ้ายประมาณ 7-9 เซนติเมตร หมายถึงให้ฟังหูไว้หู มีพระพักตร์กึ่งยิ้มกึ่งเข้มขรึม สุดแท้แต่คนมอง ถ้ามองให้ยิ้มก็จะยิ้ม มองให้เข้มขรึมก็จะเข้มขรึม ไม่มีลักยิ้ม ออกไปทางล้านนา สำนักโบราณคดียกให้เป็นเทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาครับ (ภายในวิหารมหาอุตม์มีป้ายบอกห้ามถ่ายรูป แต่ผมได้รับอนุญาตจากท่านเจ้าอาวาสให้ถ่ายรูปได้นะครับ)

จริงๆ ที่วัดกระดังงาบุปผาราม ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีก 1 สิ่ง นั่นคือบาตรทองเหลือง เสียดายที่ท่านเจ้าอาวาสมีธุระต้องรีบออกไปข้างนอก เลยไม่มีเวลาพาผมไปชมครับ

จากวัดกระดังงาบุปผารามไปต่อกันที่ “วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร” ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลจักรสีห์ ห่างจากตัวเมืองสิงห์บุรีประมาณ 5 กิโลเมตรเองครับ

วัดพระนอนจักรสีห์เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ที่สุด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้สร้าง ทราบแต่เพียงว่าเมื่อปี พ.ศ.2292 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 ได้เสด็จมานมัสการและประทับแรมที่วัดแห่งนี้เป็นเวลา 1 เดือน เมื่อเสด็จกลับยังกรุงศรีอยุธยาแล้ว ทรงโปรดเกล้าให้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระพุทธไสยาสน์ใหม่ และต่อมาได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครับ

พระนอนจักรสีห์เป็นพระพุทธไสยาสน์ปางโปรดอสุรินทราหู เป็นศิลปะสมัยสุโขทัย มีความยาว 1 เส้น 3 วา 2 ศอก 1 คืบ 7 นิ้ว หรือประมาณ 47.40 เมตร พระเศียรชี้ไปทางตะวันออก หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ นับเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดสิงห์บุรีที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นที่นับถือของชาวสิงห์บุรีและใกล้เคียงเป็นอย่างมากครับ

ภายในวิหาร นอกจากพระนอนจักรสีห์แล้ว ยังมีพระแก้ว (องค์ซ้าย) พระหล่อนั่งขัดสมาธิเพชร อันศักดิ์สิทธิ์ และพระกาฬ (องค์ขวา) พระพุทธรูปนั่งศิลา ลงรักปิดทอง ทั้ง 2 องค์นี้เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่สมัยรัชกาลที่ 5 ใช้เป็นพระประธานในการถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการครับ นอกจากนี้ภายในวิหารยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมาย ทั้งพระบรมธาตุ รวมถึงพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้มากมาย รวมถึงโบราณวัตถุที่หายากไว้ให้ได้ชมกัน

ด้านหน้าวิหารมีหุ่นขี้ผึ้งขนาดใหญ่ของหลวงปู่มั่น, หลวงปู่ทวด, หลวงพ่อปาน (วัดบางนมโค), หลวงพ่อสด จนฺทสโร , หลวงพ่อเงิน (วัดบางคลาน), หลวงปู่ศุข (วัดมะขามเฒ่า) ให้กราบไหว้บูชาครับ

ติดๆ กับวิหาร มีตลาดต้องชม ตลาดขายของฝากเมืองสิงห์บุรี ที่นำของดีของเด่นมาขาย ไม่ว่าจะเป็นปลาช่อนแดดเดียว ปลาร้า ขนมนานาชนิด ให้เลือกนำกลับไปเป็นของฝากคนทางบ้านด้วยครับ

ก่อนกลับ อย่าลืมแวะสักการะพระพุทธมณฑลกลางน้ำด้วยนะครับ อยู่ด้านหน้าวัดเลยครับ

จากอำเภอเมือง ไปต่อที่อำเภอท่าช้าง ไปแวะไหว้พระที่ “วัดพิกุลทอง” ครับ

วัดพิกุลทอง อยู่ในเขตพื้นที่ตำบลวิหารขาว อยู่ห่างจากวัดพระนอนจักรสีห์ประมาณ 9 กิโลเมตร เป็นวัดที่ชาวเมืองสิงห์บุรีให้ความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างมาก เพราะหลวงพ่อแพ อดีตเจ้าอาวาส ท่านได้ทำประโยชน์ให้แก่พุทธศาสนาไว้อย่างมากมาย จนทำให้ท่านเป็นที่เคารพรักของชาวบ้าน ท่านมีส่วนช่วยให้วัดพิกุลทองมีลักษณะสวยงาม ไม่ชำรุดทรุดโทรม จนชาวบ้านทั่วไปเรียกวัดพิกุลทองว่า วัดหลวงพ่อแพครับ

พระพุทธสุวรรณมงคลมหามุนี หรือ หลวงพ่อใหญ่ เป็นพระพุทธรูปปางประทานพร ศิลปะสมัยสุโขทัย หน้าตักกว้าง 11 วา 2 ศอก 7 นิ้ว สูง 21 วา 3 คืบ 11 นิ้ว สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก องค์พระประดับด้วยโมเสคทองคำ 24 เค จากประเทศอิตาลี จึงทำให้องค์พระมีสีทองอร่าม นับเป็นอีกหนึ่งพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งในประเทศไทยด้วยครับ

ใกล้ๆ กับพระพุทธสุวรรณมงคลมหามุนี เป็นที่ตั้งของวิหาร ซึ่งภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อขนาดใหญ่ของหลวงพ่อแพ เขมังกโร อดีตเจ้าอาวาสวัดพิกุลทอง ผู้สร้างคุณานุคุณสูงส่งแก่ชาวสิงห์บุรี จนได้รับการยกย่องให้ท่านเป็น เทพเจ้าแห่งลุ่มแม่น้ำน้อยครับ

จากอำเภอท่าช้าง ไปต่อกันที่อำเภอค่ายบางระจัน เพื่อไปเที่ยว “ตลาดไทยย้อนยุคบ้านระจัน” กันครับ

ตลาดไทยย้อนยุคบ้านระจัน อยู่ในวัดโพธิ์เก้าต้น ตำบลบางระจัน อำเภอค่ายบางระจัน เป็นตลาดโบราณที่อัดแน่นด้วยอาหารมากมาย

ตลาดไทยย้อนยุคบ้านระจัน จะเปิดตลาดทุกวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เปิดตั้งแต่เวลา 08.30-16.00 น. ครับ

พ่อค้าแม่ค้าในตลาดแห่งนี้ล้วนร่วมใจแต่งชุดไทยโบราณมาขายของ ทำให้ผู้ที่มาเยี่ยมชมตลาดเหมือนได้ย้อนยุคกลับเข้าไปในสมัยโบราณเลยครับ

มีเวทีแสดงกลางน้ำด้วยครับ ช่วงเที่ยงๆ หาซื้ออาหารมานั่งทานริมแม่น้ำ ทานอาหารไปพร้อมชมการแสดงไป เพลินดีครับ

อาหารที่นำมาขายก็มีมากมายหลายหลาก มีทั้งอาหารที่ซื้อแล้วสามารถนั่งทานที่นั่นได้เลย หรือจะหิ้วกลับไปฝากคนทางบ้านก็ได้ อาหารหลายอย่างเป็นอาหารที่หาทานได้ทั่วไป แต่เมื่อนำมาจัดวางบนวัสดุธรรมชาติ มันทำให้เพิ่มมูลค่า แลดูน่าทาน เหมาะกับตลาดโบราณย้อนยุคแบบนี้ได้เป็นอย่างดีครับ แนะนำให้มาเที่ยวตลาดในช่วงสัก 10-11 โมงครับ เดินสำรวจตลาดซะก่อนว่ามีอะไรน่าทานบ้าง จะได้วางแผนได้ถูกว่าจะทานอะไร ภายในตลาดมีพื้นที่สำหรับให้นักท่องเที่ยวได้นั่งทานอาหารไว้เรียบร้อย หรืออย่างที่บอกในตอนต้น ซื้ออาหารแล้วไปนั่งชมการแสดงที่ริมน้ำก็ได้ครับ

ก่อนกลับ ขอแวะสำรวจวัดโพธิ์เก้าต้นกันสักหน่อย วัดโพธิ์เก้าต้นหรือวัดไม้แดง เดิมเป็นฐานที่มั่นของชาวบ้านบางระจัน ในการต่อต้านพม่าที่ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 2308 มีวิหารพระอาจารย์ธรรมโชติรังสี ประดิษฐานรูปประติมากรรมของพระอาจารย์ธรรมโชติ ท่านเป็นมิ่งขวัญและพลังใจแก่เหล่าวีรชนชาวบ้านบางระจัน ทำให้วีรชนเข้าต่อสู้ป้องกันข้าศึกและได้รับชัยชนะครับ

หลายคนมากราบไหว้บูชาขอพรบนบานศาลกล่าวท่านอาจารย์ธรรมโชติ เมื่อขอพรได้ตามสิ่งที่ต้องการแล้ว จะมาแก้บนด้วยการหาบน้ำตามจำนวนหาบที่บนไว้ครับ

จากอำเภอค่ายบางระจัน ไปต่อที่อำเภอบางระจัน ไปชม “แหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย” กันครับ

เตาเผาแม่น้ำน้อย สันนิษฐานว่าเกิดในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ยกทัพไปตีหัวเมืองฝ่ายเหนือที่อยู่ในความปกครองของสุโขทัย โดยกวาดต้อนผู้คน ซึ่งอาจจะมีช่างเตาเผารวมอยู่ด้วย และได้มารวมกลุ่มกันบริเวณแม่น้ำน้อย ส่วนอีกแนวทางหนึ่งจากหลักฐานเอกสารจีน เจ้านครอินทร์ เมื่อครั้งเป็นอุปราชเมืองสุพรรณ ได้เป็นฑูตไปเมืองจีน จักรพรรดิได้อนุญาตให้นำช่างปั้นหม้อจีนมาเมืองไทยได้ จึงทำให้มีอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผาเกิดขึ้น เครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตได้แก่ ไหสี่หู ครก ขวด แจกัน ท่อประปา และชิ้นส่วนเครื่องประกอบอาคารครับ

เตาเผาแม่น้ำน้อยเป็นเตาเผาขนาดใหญ่ ก่อด้วยอิฐ มีลักษณะเป็นเรือประทุน จึงเรียกว่า เตาประทุน ระบายความร้อนเฉียง สภาพที่ขุดและตกแต่งโดยกรมศิลปากร จะเห็นการพังทลายส่วนที่เป็นประทุนยุบลงมา แต่ก็ยังพอจะเห็นร่องรอยที่ขุด โดยตกแต่งแล้วมีประมาณ 9 เตาครับ เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ไม่ควรพลาดชมถ้ามาสิงห์บุรีครับ

จากอำเภอค่ายบางระจัน ไปต่อกันที่อำเภออินทร์บุรีครับ ผมจะพาไปชมวัดเล็กๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา นั่นคือ “วัดไทร” อีกหนึ่งไฮไลท์ของสิงห์บุรีครับ

วัดไทร หรือ วัดทะยาน อยู่ในตำบลชีน้ำร้าย สันนิษฐานว่าถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันหลงเหลือเพียงซากปรักหักพัง แต่ที่โดดเด่นที่ทำให้ผมต้องมาที่นี่ เพราะโบสถ์ของวัดไทรถูกปกคลุมด้วยรากต้นไทร ที่โอบยึดกำแพงโบสถ์ไว้ไม่ให้พังทลายลงมา ลักษณะของโบสถ์เป็นโบสถ์มหาอุตม์ คือมีประตูเข้าออกเพียงทางเดียว ส่วนของศาลาวัดได้พังลงน้ำไปแล้ว

ภายในโบสถ์เป็นที่ประดิษฐานองค์พระประธาน เดิมชาวบ้านละแวกนี้เรียกว่าหลวงพ่อขาวหรือหลวงพ่อทะยาน แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อว่า หลวงพ่อวัดไทร ตามชื่อของวัดไทรครับ ตามตำนานเล่าว่าเดิมทีองค์พระประธานเป็นหุ่นปูนหุ้มแผง ต่อมาถูกทหารพม่าสุมไฟหลอมลอกเอาทองไปหมดเหลือแต่หุ่นปูนข้างใน รวมไปถึงองค์พระพุทธรูปยังถูกตัดเศียรไปอีกด้วย ภายหลังชาวบ้านจึงได้เรี่ยไรเงินทองเพื่อนำมาบูรณะต่อเศียรพระพุทธรูปที่ขาดหายไปครับ

ผมเคยเห็นโบสถ์ลักษณะนี้มาแล้ว 2 วัด คือที่วัดบางกุ้ง จ.สมุทรสงคราม และที่วัดสังกระต่าย จ.อ่างทอง ไม่คิดเลยว่าจะได้เห็นวัดลักษณะนี้ที่สิงห์บุรีครับ

จากวัดไทร ไปต่อที่วัดสุดท้าย ที่ “วัดม่วง” ครับ

ผมพิมพ์ไม่ผิดหรอกครับ “วัดม่วง” จ.สิงห์บุรี ถึงแม้ขนาดของวัดม่วง จ.สิงห์บุรี จะเทียบไม่ได้กับความอลังการของวัดม่วง จ.อ่างทอง แต่วัดม่วง จ.สิงห์บุรี ก็มีเสน่ห์ในรูปแบบของทางวัดเอง สันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้น่าจะสร้างเป็นวัดแรกของอำเภออินทร์บุรี และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในอดีต มีบุคคลสำคัญมาเยี่ยมเยือนวัดม่วงเสมอ นับตั้งแต่พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช ฯลฯ ซึ่งส่งผลให้วัดม่วงเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองอินทร์บุรีไปแล้วครับ

สิ่งที่น่าสนใจของวัดม่วง อยู่ที่วิหารเก่าแก่หลังเล็กๆ หลังนี้ครับ เป็นวิหารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หน้าบันประดับด้วยภาชนะเครื่องถ้วยต่างๆ ครับ

ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่มีพุทธลักษณะงดงาม นอกจากนั้นยังมีจิตกรรมฝาผนังที่เขียนด้วยสีฝุ่น ฝีมือช่างพื้นบ้าน ซึ่งคาดว่าน่าจะเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่บอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในสังคมโบราณ ต้องบอกเลยครับว่า จิตกรรมฝาผนังงดงามมากๆ ถึงแม้ว่าภาพเขียนจะไม่สมบูรณ์มากนัก แต่ความคมชัดและสีสัน ยังคงตราตรึงใจผมอยู่เสมอ แนะนำว่าเป็นอีกหนึ่งวัดที่ไม่ควรพลาด หากมาเที่ยวที่อินทร์บุรีครับ

หลายสิ่งอย่างที่ผมประสบพบเจอมาในรีวิวนี้ ไม่คิดเลยว่าจะได้มาพบเจอในจังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดเล็กๆ ที่ผมมองข้ามมาโดยตลอด วันหยุดนี้หากเพื่อนๆ ยังไม่มีโปรแกรมไปเที่ยวที่ไหน ลองมาเที่ยวที่สิงห์บุรีดูซิครับ เมืองที่ต้องตั้งใจไป ถึงจะไปถึงครับ

ท้ายสุดนี้ เพื่อนๆ สามารถเข้าไปให้กำลังใจและติดตามผลงานของผมเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/unclegreenshirt นะครับ