ทริปสั้นๆ 2 วัน 1 คืน ที่คุ้งบางกะเจ้า ใกล้กรุงเทพแค่นิดเดียว
เสาร์-อาทิตย์นี้หากใครมองหาสถานที่พักผ่อนใกล้ๆ กรุงเทพ เพื่อสูดอากาศดีๆ เติมพลังในช่วงวันหยุด เราขอแนะนำที่นี่เลย “คุ้งบางกะเจ้า” ซึ่งหลายๆ คนอาจจะรู้จักในแง่มุมของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ กับการปั่นจักรยานสูดอากาศดีๆ ใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์กับที่ๆ ขึ้นชื่อว่าเป็น The Best Urban oasis of Asia ของคุ้งบางกระเจ้า แต่ที่นี่ยังมีอีกหลายแง่มุมที่หลายๆ คนยังไม่รู้ กับความพิเศษที่ซ่อนอยู่ วันนี้เราได้โอกาสดีที่จะพาทุกท่านไปท่องที่ยวคุ้งบางกระเจ้าแบบ 2 วัน 1 คืน แล้วเรามาสูดออกซิเจนให้เต็มปอด พร้อมตามหาเรื่องราวพิเศษที่ซ่อนอยู่กับพื้นที่นี้ “คุ้งบางกระเจ้า”
วันนี้เราเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว มาตามเส้นทางฝั่งพระราม 3 แล้วข้ามมาฝั่งพระประแดงโดยขึ้นสะพานภูมิพล ที่นับว่าเป็นแลนด์มาร์กของที่นี่เลย และแน่นอนว่าตรงสะพานภูมิพลเราจะเห็นประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ไปด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้เราเคยอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับประตูระบายน้ำแห่งนี้แล้วเราประทับใจมาก เพราะหลายคนยังไม่รู้ว่าในสมัยก่อนพื้นที่คุ้งบางกระเจ้า เป็นพื้นที่ปัญหา เป็นที่ที่น้ำท่วมง่ายและราคาถูก จึงไม่มีคนอยู่ แต่หลังจากที่มีโครงการพระราชดำริ คือ โครงการสร้างประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์และ สะพานภูมิพล 1 และ 2 ทำให้หยุดปัญหาน้ำท่วมเกือบร้อยเปอร์เซ็น และทำให้เกิดตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง จนเป็นแหล่งท่องเที่ยวตั้งแต่นั้น เป็นโครงการที่เกิดความภาคภูมิใจแก่คนในพื้นที่ และที่สำคัญยังมีคำว่า ภูมิพล อยู่ในพื้นที่ นั่นคือสะพานภูมิพล ของกรมทางหลวงชนบท และนี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุดทำให้คุณภาพชีวิตจากอดีตและปัจจุบันของชาวบ้านคุ้งบางกะเจ้าดีขึ้นมาเพราะโครงการพระราชดำริของพระองค์
พอเข้ามาในตัวคุ้งบางกะเจ้าแล้ว เราก็ทำการเชคอินที่พักกันก่อน วันนี้เรามาพักโฮมสเตย์ “ผึ้งนางโฮมสเตย์” อยู่ใกล้ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง ที่พักเป็นสไตล์เรือนไทยที่ตกแต่งด้วยเครื่องของใช้เก่าๆ บรรยากาศร่มรื่นสะอาดตา และเงียบสงบมากๆ
ตอนที่มาถึงก็เวลาประมาณเกือบๆ เที่ยงแล้ว ท้องเริ่มร้อง เราเลยจะไปหาอะไรกินกันที่ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง โดยการเช่าจักรยานจากที่พักปั่นมาที่ตลาด ระยะทางไม่ไกลมากนัก ตอนที่มาถึงก็เวลาประมาณเกือบๆ เที่ยงแล้ว ท้องเริ่มร้อง เราเลยจะไปหาอะไรกินกันที่ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง โดยการเช่าจักรยานจากที่พักปั่นมาที่ตลาด ระยะทางไม่ไกลมากนักตอนเห็นตลาดน้ำบางน้ำผึ้งทีแรกนึกว่าจะไม่ใหญ่เท่าไร แต่พอเดินไปเข้าปรากฎว่าใหญ่เหมือนกันนะเนี้ย และของกินเยอะมากกกกกกกกก แถมราคาไม่แพงด้วย คิดถูกจริงๆ ที่มาฝากท้องที่นี่ แต่ว่าที่นี่เปิดเฉพาะเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น ตั้งแต่ 8.00-15.00
พออิ่มแล้วเราก็เริ่มปั่นจักรยานหาที่เที่ยวกัน แล้วเป้าหมายของเราวันนี้จะแวะ 3 สถานที่ด้วยกันคือ บ้านธูป สวนศรีนครเขื่อนขันธ์ และพิพิธภัณฑ์ปลากัด
เราแวะกันที่แรกก่อนนั้นคือ “บ้านธูป” ส่วนใหญ่แล้วบ้านธูปจะมีทัวร์ลงที่มากันเป็นหมู่คณะ เพราะว่าที่นี่มีกิจกรรมค่อนข้างหลากหลาย ทั้งทำธูป ย้อมผ้า เราสามารถมานั่งทำที่นี่ได้ แต่ว่าถ้าวันไหนฝนตกแดดไม่ออก กิจกรรมย้อมผ้าก็จะไม่มีเพราะจะตากผ้าไม่ได้ พอแวะได้แป๊บนึงเราก็มุ่งหน้าไปยังสวนศรีนครเขื่อนขันธ์กันต่อ
จากนั้นเราก็มาถึงไฮไลท์ของที่นี่คือ “สวนศรีนครเขื่อนขันธ์” สวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพรรณไม้นานาชนิด จากมติอนุมัติโครงการสวนกลางมหานคร ในปีพ.ศ. 2534 ที่ต้องการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ให้ดีขึ้นทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน โครงการสวนกลางมหานครจึงกำเนิดขึ้น มีการสร้างสวนสาธารณะและสวนพฤกษชาติ ในเนื้อที่ 148 ไร่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า “ศรีนครเขื่อนขันธ์” สร้างเสร็จสิ้นเมื่อปีพ.ศ. 2540 ซึ่งปัจจุบัน ศูนย์จัดการพื้นที่สีเขียวเชิงนิเวศนครเขื่อนขันธ์ (พื้นที่โครงการสวนกลางมหานครทั้งหมด) อยู่ในความดูแลของสำนักโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ โดยกรมป่าไม้
จากที่พูดคุยกับเจ้าหน้าที่พื้นที่สวนศรีนครเขื่อนขันธ์ เขาเล่าให้เราฟังอย่างน่าสนใจว่า แต่ก่อนเป็นที่อาศัยของชุมชน มีการทำเกษตรแบบยกร่องสวน ต่อมา สวนผลไม้บนคันคู ร่องสวน ถูกแทนที่ด้วยไม้โตเร็ว วัชพืช และไม้ต่างถิ่นที่ถูกพัดพามากับสายน้ำ ด้วยลักษณะพิเศษเฉพาะนี้ การปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับมามีความสมบรูณ์แต่ยังต้องคงไว้ซึ่งการเป็นสวนหลังบ้าน เราจึงจำเป็นที่จะต้องมีวิธีการฟื้นฟูป่าที่แตกต่างออกไปจากวิธีปกติ เป็นการฟื้นฟูที่คำนึงถึงความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศดั้งเดิม รวมถึงต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น ทั้งในแง่ของโครงสร้างของป่า ผลผลิต และความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ พอเวลาผ่านไปกระบวนการทางนิเวศดังกล่าวก็จะกลับมาอีกครั้ง ซึ่งในพื้นที่ศึกษาเรียนรู้การฟื้นฟูป่าเชิงนิเวศนี้ ได้จำลองระบบนิเวศดั้งเดิมของคุ้งบางกะเจ้ามาไว้ที่นี้ โดยประกอบไปด้วย ป่า 3 ชนิด คือป่าบึงชุ่มน้ำ ป่าดิบลุ่มต่ำ ป่าชายเลนริมน้ำ จึงทำให้พื้นที่ดังกล่าวซึ่งสนับสนุนโดย ปตท. นั้น เป็นแหล่งออกซิเจนชั้นดี ที่เต็มไปด้วยพืชพันธุ์นานาชนิด เหมาะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจที่สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ในการฟื้นฟูป่าได้อีกด้วย
เมื่อปั่นจักรยานรอบสวนศรีนครเขื่อนขันธ์แล้ว ในเส้นทางเดียวกันนั้น พอเราปั่นเลยขึ้นไปหน่อยก็จะเจอพิพิธภัณฑ์ปลากัด ทีแรกที่นึกในใจว่าคงจะเป็นบ้านไม้เรือนไทยแล้วมีโหลปลากัดวางไว้เป็นชั้นๆ ให้เราได้เดินดู ปรากฏว่าพื้นที่แห่งนี้ใหญ่มากกกกกกกก แถมยังร่มรื่นสุดๆ เหมือนเป็นสวนสาธารณะย่อมๆ อีกแห่งหนึ่งเลยก็ว่าได้
แน่นอนว่าพอมาที่นี่เราก็ต้องพูดคุยกับผู้ดูแลเพื่อสอบถามข้อมูลสถานที่แห่งนี้ เพื่อให้การท่องเที่ยวของเราสมบูรณ์แบบมากที่สุด เขาก็เล่าว่าการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เพื่อส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในรูปแบบ”พิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้ และการพักผ่อนหย่อนใจ” ซึ่งนอกจากความรู้เรื่องปลากัดสายพันธุ์ต่างๆ ที่ได้จัดแสดงไว้ กับพื้นทีบริเวณรอบๆ เกือบๆ 3 ไร่ ก็ยังเต็มไปด้วยพันธุ์ไม้ป่าชายเลนนานาชนิด และภายในพื้นที่ยังมีส่วนจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ที่แบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลักๆ คือ บ้านรักรู้ หอโลกหอธรรม เส้นทางศึกษาธรรมชาติ และลานคนกล้า ซึ่งแต่ละส่วนก็จะสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับปลากัดไทย และความเป็นพื้นบ้านพื้นถิ่นเอาไว้มากมาย สมกับคอนเซปของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จริงๆ
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10 โมงเช้า จนถึง 5 โมงเย็น โดยถัดจากสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ ปั่นจักรยานมาตามทางก็จะเห็นป้ายบอกทางตลอดระยะ นอกจากนี้ยังมีเครื่องดื่มและกาแฟไว้คอยบริการ โดยสามารถมานั่งพักแวะชมปลากัด ปั่นจักรยานรอบๆ และจิบกาแฟด้วยได้ จากนั้นเราก็ปั่นจักรยานเดินทางกลับที่พัก และแวะร้านอาหารข้างทางสำหรับมื้อเย็น
เมื่อตื่นเช้ามาเราก็จัดกระเป๋าเตรียมตัวเดินทางกลับกรุงเทพ กับพักผ่อนเพียง 2 วัน 1 คืนที่นี่ ทำให้เราได้เห็นแง่มุมที่ไม่เคยรู้มาก่อนของคุ้งบางกระเจ้า สร้างความประทับให้กับทริปนี้ไม่น้อยเลยทีเดียว นับว่าเป็นการพักผ่อนที่ได้สูดออกซิเจนแบบเต็มๆ ปอดอย่างแท้จริง ทำให้ร่างกายสดชื่น มีพลังพร้อมที่จะไปใช้ชีวิตในเมืองหลวงได้อย่างดีทีเดียว แล้วเจอกันอีกนะ…
“คุ้งบางกะเจ้า”