Search and share travel destinations and experiences in Thailand Sign up Log in
 
"ภูหลวง" มรดกล้ำค่ำ ผืนป่าแห่งภาคอีสาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง (Phu Luang Wildlife Sanctuary) จ.เลย
    • Posts-1
    theTripPacker •  March 08 , 2017

    "ภูหลวง" มรดกล้ำค่ำ ผืนป่าแห่งภาคอีสาน

    หนาวแล้วเที่ยว "เลย" จะว่าไปจังหวัดเลยก็เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ผมเดินทางไปเที่ยวอยู่บ่อย ๆ เนื่องจากจังหวัดนี้มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย มีภูเขาที่สวยงามอยู่หลายแห่ง ครั้งนี้จะพาไปเที่ยว ภูหลวง ที่หลายคนคงคุ้นชื่อแต่ไม่เคยได้ไปสักที ที่นี่อาจจะไปยากหน่อย ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ล่วงหน้า และเตรียมความพร้อมทั้งร่างกาย และจิตใจให้สมบูรณ์ ส่วนใครพร้อมลุยแล้วก็เตรียมจัดกระเป๋า สตาร์ทรถออกเดินทางไปพร้อมกันได้เลย

    • Posts-2
    theTripPacker •  March 08 , 2017

    ประวัติความเป็นมา

    ภูหลวง มีความหมายว่า เขาที่สูงใหญ่ หรือหมายถึงภูเขาของพระเจ้าแผ่นดิน ที่นี่เกิดจากการยกตัวของพื้นผิวโลก และดินส่วนที่อ่อนพัดพาลงสู่พื้นที่ส่วนต่ำ คาดคะเนว่าอาจเป็นทะเลมาก่อนเนื่องจากพบทรายจำนวนมากบนภู เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงได้รับการจัดตั้งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2517 มีเนื้อที่ประมาณ 848 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 530,000 ไร่ ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอวังสะพุง, อำเภอภูเรือ, อำเภอด่านซ้าย และอำเภอภูหลวง จังหวัดเลย และได้มีการกำหนดพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2534 มีเนื้อที่ประมาณ 897 ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 560,593 ไร่

    เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงนี้มีสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาใหญ่ เริ่มจากระดับความสูงประมาณ 400 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง มียอดเขาที่สูงที่สุดของภูหลวง ความสูงประมาณ 1,571 เมตร ส่วนสภาพภูมิอากาศนั้นก็มี 3 ฤดูปกติแต่ระดับอุณหภูมิต่างกัน

    ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 20-25 องศาเซลเซียส ในฤดูนี้จะเป็นช่วงที่ดอกไม้ที่มีสีสันเจิดจ้าสวยงาม เช่น เอื้องตาเหิน กล้วยไม้ป่าดอกขาว กุหลาบขาว และกุหลาบแดง หรือกุหลาบพันปีที่เลื่องชื่อของที่นี่

    ฤดูฝน อยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม อุณหภูมิใกล้เคียงหรือสูงกว่าหน้าร้อนเล็กน้อยจะมีดอกไม้ป่าดอกเล็ก ๆ สีชมพูอมม่วงขึ้นแซมตามทุ่งหญ้า

    ฤดูหนาว อุณหภูมิลดลงมาก เฉลี่ย 0-16 องศาเซลเซียส ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม บางวันอุณหภูมิลดลงถึง -4 องศาเซลเซียส จะมีก่วมแดงหรือที่รู้จักกันว่าเมเปิ้ล เปลี่ยนสีแดงแล้วผลัดใบร่วงลงพื้นดินเป็นมุมถ่ายยอดนิยมของนักท่องเที่ยว ส่วนตามพื้นดินจะเห็นต้นกระดุมเงิน และรองเท้านารีปีกแมลงปอ ขึ้นอยู่บนก้อนหิน และตามพื้นป่าดิบเขาด้วย

    • Posts-3
    theTripPacker •  March 08 , 2017

    เส้นทางศึกษาธรรมชาติ

    เล่ากันต่อถึง เส้นทางศึกษาธรรมชาติโคกนกกระบา ที่ถ้าใครมา บอกเลยว่าห้ามพลาดเด็ดขาด เพราะเส้นทางนี้เราจะได้พบทั้งพันธุ์ไม้ดอกที่สวยงาม เหล่ากล้วยไม้ป่าที่หายาก รวมถึงสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ทั้งสัตว์ป่าสงวน และสัตว์ป่าคุ้มครอง เส้นทางเดินนี้จะต่อเนื่องกัน ซึ่งเป็นบริเวณที่พักนักท่องเที่ยว แยกไปได้สองทางคือไปทางผาช้างผ่าน หรือ ลานสุริยัน แต่ในช่วงฤดูหนาว ลานสุริโดยเริ่มจากโหล่นมนยันไม่ค่อยน่าไปเท่าไหร่ เนื่องจากไม่มีดอกไม้ที่สวยงามให้ชม และยังมีโอกาสเจอช้างได้อีกด้วย ผมจึงเลือกไปทางผาช้างผ่าน ผาสมเด็จ ผาเตลิ่น ไปจบที่รอยเท้าไดโนเสาร์แทน ระยะทางรวม 4 กิโลเมตร

    ระหว่างทางไปผาช้างผ่านนี้ เราก็พบพันธุ์ไม้ และกล้วยไม้ป่าต่าง ๆ จึงเหมาะกับผู้ต้องที่ต้องการศึกษาธรรมชาติ มีเวลาทั้งวันไม่เร่งรีบ สภาพป่าเป็นป่าดิบแคระมีพรรณไม้เด่นจำพวกก่อ เช่น ก่อดำ, ก่อหนู, ส้มแปะ, กุหลาบแดง, กุหลาบขาว, ส้มสา ซึ่งจะขึ้นสลับตามลานหินและมีกล้วยไม้ต่าง ๆ เช่นเอื้องตาเหิน, เอื้องสำเภางาม, เอื้องพลายงาม, สิงโตสยาม, สิงโตใบพาย, สิงโตรวงข้าว, เอื้องขยุกขยุย รวมถึงกระทือ มอสเฟิร์นต่างๆแม้แต่ฝอยลมก็มี เป็นต้น **เส้นทางนี้จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่นำทางเท่านั้น**

    เมื่อมาถึงผาช้างผ่าน ก็พบมูลช้างจำนวนมาก สังเกตได้จากมูลที่ก้อนใหญ่ และมีเศษหญ้าปะปนอยู่ บางก้อนก็ยังสด ๆ ใหม่ ๆ เหมือนช้างเพิ่งผ่านไป บางก้อนก็ดูแห้งนานเป็นเดือน ใจนึงก็อยากจะเจอช้างบ้างแต่อีกใจก็คิดว่าไม่ดีกว่า ช้างป่าอันตรายกว่าที่เราคิดไว้ ไม่เหมือนช้างในสวนสัตว์ที่มาวาดรูปโชว์แน่นอน ผาช้างผ่านอยู่ทางทิศตะวันออกของโคกนกกระบาระยะทาง เดินประมาณ 1 กม. เป็นจุดดูพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าที่สวยงาม แต่บางทีพระอาทิตย์ไม่มาตามนัดก็จะเจอแต่หมอกที่ปกคลุมทั่วบริเวณ และอากาศหนาวเย็นจับใจ

    ถัดจากผาช้างผ่านก็จะถึงผาสมเด็จ ถัดจากผาช้างผ่านไปประมาณ 1.2 กม.เป็นจุดชมวิวมีความสูงประมาณ 1,480 เมตรซึ่งมองออกไปจะเห็นแนวเทือกเขา และแนวชั้นหินของผาเตลิ่นเป็นเนินหญ้าลาด เป็นชั้นๆลงไปบริเวณหน้าผาเป็นป่าไม้พุ่มเตี้ยๆสลับกับโขดหินสวยงาม ที่ชื่อผาสมเด็จนี้มาจากที่ มีต้นไม้ชนิดหนึ่งขึ้นอยู่เรียกว่าต้นสร้อยสมเด็จ ค้นพบเป็นแห่งแรกในประเทศไทย อีกทั้งสมเด็จพระราชินียังเคยเสด็จประทับที่ผานี้ถึง 2 ครั้งเมื่อพรองค์เสด็จมาก็จารึกพระนาม สิริกิตต์ไว้บนหินริมหน้าผานี้ด้วย ที่ผาสมเด็จนี้เราจะพบเฟิร์นและมอสขึ้นตามโขดหินเป็นจำนวนมาก เพราะจุดนี้มีลมพัดตลอด มีทั้งความชื้นและอากาศที่เหมาะสม

    ผาเตลิ่น อยู่ห่างจากโคกนกกระบาไปประมาณ 3.5 กม เป็นหน้าผาสูงราว 1,055 เมตรตั้งอยู่แนวโขดหินริมผาด้านตะวันออก ก่อนจะถึงผาเตลิ่นก็จะมีทุ่งหญ้าเล็ก ๆ กั้นอยู่ มีพรรณไม้แคระ กุหลาบแดง กุหลาบขาว และมีบีโกเนียแซมอยู่ตามชะง่อนหิน จุดนี้เป็นจุดที่ถ่ายรูปออกมาสวยงามราวกับเที่ยวเมืองนอก เมื่อถึงริมผาเราสามารถ มองเห็นยอดภูกระดึงและภูเรือได้อย่างชัดเจน ถ่ายรูปเพลิน ๆ กำลังจะไปจุดต่อไปก็เหลือบไปเห็นเจ้าตัวดำ ๆ ลักษณะคล้ายกวางเด็ก กำลังยืนเล็มใบหญ้าอยู่ พอสังเกตดีๆจึงเห็นว่าเป็น เลียงผา 1 ใน 15 ชนิดของสัตวืป่าสงวนในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ที่นำทางเราไปเล่าว่า "ปกติเลียงผาจะหาตัวเจอยากมาก บางคนมาเฝ้าเป็นอาทิตย์ก็ไม่ได้เห็น แถมบางทีเห็นแค่แวบเดียวก็หลบเข้าชายป่า ถ่ายรูปไว้ไม่ทัน" แต่ครั้งนี้แปลกมาก ที่อยู่ให้เราถ่ายรูปเป็น 10 นาที ไม่กลัวคนเลย อาจจะไม่เคยรู้ถึงอันตรายจากมนุษย์ก็เป็นได้ แต่ถือว่าเราโชคดีมากที่ได้เจอสักครั้งในชีวิต

    จุดสุดท้ายที่เราจะแวะตามแพลนของเรา คือไปชมรอยเท้าไดโนเสาร์ที่มีอายุ 100 - 140 ล้านปีพบบนแผ่นหินทรายจำนวน 15 รอย เป็นพวกคาร์โนซอร์ หรือไดโนเสาร์กินเนื้อเป็นอาหาร ถือได้ว่าเป็นการพบรอยเท้าครั้งแรกแถบเอเชียอาคเนย์ 

    หลังจากเพลินกับการวัดขนาดรอยเท้าไดโนเสาร์ ก็ถึงเวลาต้องเดินกลับแล้วก่อนฟ้ามืด เพราะยิ่งใกล้พระอาทิตย์ตกแค่ไหน ช้างก็จะออกมามากขึ้นเป็นอันตรายแก่นักท่องเที่ยว เส้นทางกลับของเราต้องผ่านเข้าป่าทึบกันนิดหน่อยก่อนจะไปโผล่ที่ร่องต้นสน ระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร เรียกว่าจะมีเสียเหงื่อนิดหน่อยก็ตอนนี้แหละ จากร่องต้นสนก็มีรถของเจ้าหน้าที่มารอรับนักท่องเที่ยวกลับสู้ส่วนกลาง เส้นทางระหว่างกลับก็ผ่านทุ่งหญ้าบ้าง เนินเขาบ้าง เป็นอีกมุมที่สวยงามของภูหลวง

    จุดชมพระอาทิตย์บนภูหลวงมีอยู่ที่เดียว อยู่ใกล้กับศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเพียง 220 เมตรเท่านั้น เดินง่ายติดริมหน้าผา หากวันใดฟ้าเปิดกผ้จะได้เห็นพระอาทิตยืดวงกลมโตกำลังลับของฟ้า ช่วงเย็น ๆ ก็อาจจะมีโอกาสได้เจอไก่ฟ้าออกมาหากินด้วย

    • Posts-4
    theTripPacker •  March 08 , 2017

    ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว และที่พัก

    ร้านอาหาร : สามารถสั่งให้ทางเจ้าหน้าที่จัดหาให้ได้ในอัตรา ๒๔๐ บาท / วัน / ท่าน  มื้อเช้าเป็นข้าวต้มพร้อมกาแฟไข่ลวกเติมได้จนกว่าจะอิ่ม มื้อกลางวันเป็นอาหารห่อที่สามารถพกไปทานในเส้นทางศึกษาธรรมชาติได้ ส่วนมื้อเย็นจะเป็นอาหารชุดใหญ่ พร้อมผลไม้เติมได้จนกว่าจะอิ่ม 

    บ้านพัก และเต้นท์ : .บ้านพักเรือนไม้มีจำนวน 6 หลัง แต่ละหลังมีห้องนอน 2 ห้อง ห้องน้ำ 2 ห้อง มีน้ำประปาและไฟฟ้า (ไฟฟ้ามีเฉพาะเวลากลางคืนถึง 21.00 น. ไม่อนุญาตให้ประกอบอาหารที่บ้านพัก)  ส่วนเต้นท์สามารถจองล่วงหน้าได้ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง เบอร์ 042 801 955 

    นอกจากนี้ที่ภูหลวงยังมีโครงการฟื้นฟูอาหารช้างป่าภูหลวง เนื่องจากป่าภูหลวงมีพื้นที่กว้างใหญ่ มีหมู่บ้านชุมชนล้อมรอบหลายหมู่บ้าน  ชาวบ้านมีการบุกรุกขยายพื้นที่ทำกินเพื่อปลูกพืชไร่ เช่น ลูกเดือย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ข้าว เป็นต้น ซึ่งแต่เดิมพื้นที่เหล่านั้นเคยเป็นแหล่งน้ำ แหล่งอาหารของช้างป่า เมื่อถูกรบกวนจากชาวบ้านและอาหารไม่พอ ช้างป่าจึงออกมาทำลายไร่ของชาวบ้านจนได้รับเสียกายทั้งทรัพย์สินและชีวิต ปัจจุบันจึงมีการทำโป่งเทียมที่ใส่แร่ธาตุและอาหารที่จำเป็นต่อช้างเข้าไป เพื่อให้ช้างไม่ไปทำลายไร่ชาวบ้าน อีกทั้งยังมีวิธีป้องกันช้างโดยการเลี้ยงผึ้งเป็นแนวกันช้าง เพื่อป้อกันช้างบุกรุกอีกด้วย

    • Posts-5
    theTripPacker •  March 08, 2017

    Editor's Comment

    • Strong point:
    • ภูหลวงมีลักษณะเป็นเทือกเขาขนาดใหญ่ มีป่าที่อุดมสมบูรณ์ป็นแหล่งที่มีพืชพรรณไม้ในที่สูงที่อุดมสมบูรณ์มาก มีกล้วยไม้ป่ามากกว่า 160 ชนิด มีพืชพรรณไม้ที่หายาก อากาศหนาวเย็นตลอดปี สามารถเที่ยวได้ทุกฤดู สถานที่ท่องเที่ยวหลากหลายทั้งหน้าผาสูงชัน จุดชมพระอาทิตย์ขึ้นและตก รวมถึงน้ำตกในช่วงฤดูฝนด้วย
    • Weak point:
    • การติดต่อขอเข้าไปเที่ยวในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าค่อนข้างติดต่อยาก เนื่องจากที่นี่เป็นพื้นที่ทับซ้อนที่ทั้งคนและสัตว์ต้องใช้ร่วมกัน ในการเที่ยวจุดต่างๆจึงจพเป็นอย่างมากที่ต้องมีเจ้าหน้าที่หรือผู้เชี่ยวชาญเข้าไปดูแลให้ข้อมูล ควรจองล่วงหน้ากอ่นเดินทางอย่างน้อย 15 วัน และสิ่งอำนวยความสะดวกรวมถึงบ้านพักค่อนข้างไม่สะดวกสบายเท่าไหร่แต่ก็พอใช้พักชั่วคราวข้ามคืนเท่านั้น
    • Conclusion:
    • ภูหลวง เป็นอีกภุหนึ่งในจังหวัดเลย ที่ต้องมาสักครั้งในชีวิต มีความสำคัญกับผืนป่าในประเทศไทย เป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์ป่า เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำสายน้ำสำคัญๆ หลายสาย เช่น แม่น้ำเลย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำทบ และแม่น้ำสาน รวมถึงสภาพสังคมของพืชที่ขึ้นอยู่ปะปนกันตามสภาพภูมิประเทศที่สลับซับซ้อน จึงเป็นแหล่งที่รวมของพันธุ์ไม้มีค่า หายาก และพืชสมุนไพรมากมายหลายชนิด เรียกว่าเป็นมรดกของอีสานเลย
    Score
    • Posts-6
    theTripPacker •  March 08 , 2017

    ข้อมูลทั่วไป

    ที่ตั้ง : เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง อ.ด่านซ้าย จ.เลย

    GPS : 17.367041, 101.504632

    ช่องทางติดต่อ : 0 4280 1955

    เวลาเปิดปิด : เปิดทุกวัน แต่ต้องขึ้นถึงภูก่อน 15.00 

    กิจกรรม : เดินชมเส้นทาศึกษาธรรมชาติจะได้พบทั้งพรรณไม้ดอกที่หายากและมีที่เดียวในประเทศ รวมถึงสัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์ , ชมพระอาทิตย์ขึ้นและตกที่สวยงามริมหน้าผา , สร้างโป่งเทียมเพื่อเป็นอาหารช้าง

    ข้อแนะนำ : การเที่ยวเดินในเส้นทางศึกษาธรรมชาติในภูหลวงนี้จำเป็นต้องติดต่าเจ้าหน้าที่ล่วงหน้าเท่านั้น เพราะช่างป่าที่นี่ค่อนข้างดุและอันตราย 

    • Posts-7
    theTripPacker •  March 08 , 2017

    วิธีการเดินทาง

    ใช้ทางหลวงหมายเลข 203 เลย-ภูเรือ ไปประมาณ 36 กิโลเมตร ถึงบ้านสานตม แล้วเลี้ยวซ้ายด้านข้างโรงเรียนบ้านสานตม ไปตามทางลาดยาง 18 กิโลเมตร จนถึงด่านตรวจห้วยทอง และเดินทางต่อไปตามเส้นทางลูกรังอีกประมาณ 10 กิโลเมตร ก็จะถึงหน่วยพิทักษ์ฯ โคกนกกระบา การเดินทางควรใช้รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อ ในกรณีที่ไม่สามารถนำรถขึ้นไปได้ บริเวณด่านตรวจห้วยทอง จะมีรถกระบะสองแถวให้เช่าไว้คอยบริการนักท่องเที่ยว

    • Posts-8
    theTripPacker •  March 08, 2017
    • Posts-9
    theTripPacker •  March 08, 2017