เขาคิชฌกูฏ นมัสการรอยพระพุทธบาท ณ อุทยานแห่งศรัทธา
เขาคิชฌกูฏ ยอดเขาสูงที่ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ในแต่ละปีทางอุทยานฯ จะมีกำหนดการเปิดเส้นทางให้นักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นเขาได้เพียงบางช่วงเท่านั้น ซึ่งเมื่อถึงช่วงที่เขาคิชฌกูฏเปิดให้ขึ้นได้นั้น บรรดานักเดินทาง และชาวพุทธที่มีจิตศรัทธาจำนวนมหาศาลจะพร้อมใจหลั่งไหลกันมาที่นี่เพื่อสักการะรอยพระพุทธบาทที่อยู่สูงที่สุดในประเทศไทย ท่ามกลางบรรยากาศของงานประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ และทิวทัศน์สุดอันซีน
ในปีนี้ทางอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ ได้ประกาศเปิดงานนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง ณ เขาคิชฌกูฏ ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม - 24 มีนาคม 2563 รวมระยะเวลาทั้งหมด 60 วัน ซึ่งหากใครกำลังวางแผนจะเดินทางมาท่องเที่ยว หรือต้องการจะมาสักการะรอยพระพุทธบาท ที่เขาคิชฌกูฏ และอยากหาข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการเดินทาง และคำแนะนำต่าง ๆ สามารถอ่านได้ในรีวิวนี้เลยครับ
อำเภอเขาคิชฌกูฏ อยู่ห่างจากตัวเมืองจันทบุรี ราว 30 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 - 45 นาที เนื่องจากเขาคิชฌกูฏอยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติ ประกอบกับทางขึ้นเขามีความลาดชัน และเป็นดินลูกรังตลอดทาง ต้องอาศัยรถที่มีกำลังสูง พร้อมคนขับที่มีความชำนาญ จึงไม่อนุญาตให้นำรถยนต์ส่วนตัวขึ้นไปได้ ต้องใช้บริการรถรับ-ส่งที่จัดไว้ให้เท่านั้น โดยจุดบริการรถสำหรับขึ้น-ลงเขาคิชฌกูฏมีด้วยกัน 2 จุด คือที่ วัดกระทิง และ วัดพลวง ซึ่งครั้งนี้เราเลือกที่จะขึ้นรถที่วัดพลวง เนื่องจากมีพื้นที่รองรับการจอดรถได้จำนวนมาก และค่อนข้างสะดวกเพราะมีร้านค้า ร้านอาหาร ห้องน้ำ และจุดพักผ่อนอยู่มากพอสมควร ค่าบริการรถรับส่ง 200 บาท / คน (รวมขาขึ้น และขาลง) โดยนักท่องเที่ยวสามารถขึ้น-ลงเขาคิชฌกูฏได้ตลอดเวลาทั้งกลางวัน และกลางคืน ซึ่งช่วงที่คนหนาแน่นมาก ๆ จะเป็นช่วงคืนวันศุกร์ไปจนถึงเช้าวันอาทิตย์ หากใครไม่ชอบความแออัด หรือไม่อยากรอคิวรถนาน ๆ ก็เลือกเดินทางในวันธรรมดาช่วงกลางวันแบบเดียวกับเราก็ได้ครับ อากาศอาจจะร้อนหน่อย แต่ก็เดินทางสบาย ๆ
เมื่อซื้อบัตรแล้วก็เดินมาขึ้นรถได้เลย โดยรถจะออกทันทีที่มีผู้โดยสารเต็มคัน เนื่องจากเส้นทางขึ้นเขาระยะทางกว่า 8 กิโลเมตร มีความลาดชันสูง และเต็มไปด้วยทางคดเคี้ยว แนะนำว่าหากมีเด็ก หรือคนชรามาด้วย ให้นั่งด้านในรถกับคนขับ ส่วนคนที่นั่งกระบะด้านหลังควรสวมหน้ากากกันฝุ่น และเก็บสัมภาระใส่กระเป๋าให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันการตกหล่น ระหว่างทางจะมีด่านเก็บค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานฯ ผู้ใหญ่ 20 บาท และเด็ก 10 บาท รถขาขึ้นจะใช้เวลาประมาณ 30-40 นาที โดยรถจะจอดส่งเราที่ ลานพระสีวลี ซึ่งจากจุดนี้เราต้องเดินเท้าขึ้นเขาต่ออีก 1.2 กิโลเมตร
เส้นทางเดินขึ้นไปยังลานพระบาท ทางเดินไม่ลำบากมากนัก แต่ก็มีความชันแบบต่อเนื่อง ระหว่างทางจะมีจุดให้แวะพัก และได้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นระยะ ๆ รวมไปถึงเส้นทางเดินยังเต็มไปด้วยธรรมชาติที่ร่มรื่น เนื่องจากอยู่ในพื้นที่เขตอุทยานฯ ที่มีทั้งพื้นที่ป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา และป่าไม้ผลัดใบ มีสัตว์ป่า และนกนานาชนิด เดินชมธรรมชาติ ฟังเสียงนกไปเรื่อย ๆ ผ่านแนวระฆัง และประตูสวรรค์ ในที่สุดเราก็มาถึง ลานพระบาท กันแล้ว
ลานพระบาท เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า หรือ รอยพระพุทธบาทพลวง ที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,050 เมตร ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในประเทศไทย เชื่อกันว่าหากใครได้มานมัสการรอยพระพุทธบาทบทยอดเขาคิชฌกูฏแห่งนี้ ก็เหมือนกับได้เข้าเฝ้าองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งถือเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ และขอพรสิ่งใดก็มักจะสมหวังดังที่ปรารถนา นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้นักเดินทาง และผู้มีจิตศรัทธามากมายต่างก็หลั่งไหลกันมาที่นี่กันอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งความงดงามอันซีนอีกอย่างของที่นี่คือ หินลูกพระบาท หรือ หินลูกบาตร หินรูปร่างแปลกตาคล้ายบาตรคว่ำขนาดมหึมาที่ตั้งตระหง่านอยู่ริมหน้าผา เคียงคู่ให้ร่มเงากับรอยพระบาทมาอย่างยาวนาน
แวะสักการะรอยพระพุทธบาท และปิดทองหินพระบาทแล้ว เราก็เดินเท้าขึ้นเขาต่อไปอีกประมาณ 800 เมตร เพื่อไปยัง ผ้าแดง จุดนี้เราสามารถเขียนคำอธิษฐานลงบนผ้าแดง แล้วผูกไว้กับต้นไม้ หรือบริเวณต่าง ๆ ซึ่งแต่เดิมทีจุดนี้เป็นจุดที่เจ้าหน้าที่จะแขวนผ้าแดงไว้เพื่อบ่งบอกว่าเป็นจุดสิ้นสุดเขตแดนบนเขาคิชฌกูฏ ไม่สามารถที่จะเดินต่อไปได้ และเมื่อจำนวนคนเดินทางขึ้นมาอธิษฐานมากขึ้น ผ้าแดงที่ผูกไว้ก็มากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นลานผ้าแดง อีกหนึ่งจุดไฮไลท์บนเขาคิชฌกูฏ
เราเดินลงจากจุดผ้าแดงกลับไปยังจุดชมวิวใกล้ ๆ กับลานพระบาท เพื่อรอชมพระอาทิตย์ตกที่เขาล่ำลือกันว่าสวยงามเป็นอย่างมาก เมื่อแสงอาทิตย์เริ่มอ่อนแรงลง อากาศก็เริ่มเย็นลงเรื่อย ๆ เช่นเดียวกัน แนะนำให้เตรียมผ้าคลุมหรือเสื้อกันหนาวมาด้วยนะครับ และไม่ผิดไปจากที่เขาว่ากันเลย ช่วงเย็นบนเขาคิชฌกูฏเป็นช่วงเวลาที่งดงามและมีมนต์ขลังเป็นอย่างมาก
เขาคิชฌกูฏ ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่เราอยากไม่อยากให้คุณพลาดหากมีโอกาสมาเยือนจังหวัดจันทบุรี นอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีทิวทัศน์สุดอันซีนแล้ว ที่นี่ยังเป็นอุทยานแห่งศรัทธาที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ มนต์ขลัง และความเชื่อที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานของชาวพุทธ นับเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่เราอยากให้คุณได้ลองมาสัมผัสด้วยตัวเองซักครั้ง