ตอน ปลายทางแห่งความสุข…เขมราฐ จ.อุบลราชธานี
เช้าตรู่วันนี้ผมได้เก็บกระเป๋าเตรียมตัวออกเดินทางไปยังเมืองเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ว่ากันว่าที่แห่งนี้จะมอบคืนความสุขให้คุณ หลายคนคงรู้สึกเหมือนผม อยากหลบหลีกความวุ่นวายไปสู่ดินแดนเงียบสงบ ที่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างช้าๆ เก็บเกี่ยวบรรยากาศริมทาง เดินไปตามสถานที่ต่างๆที่เราไม่เคยรู้จัก
สำหรับคนที่นี่ผมคงเป็นคนแปลกหน้าคนหนึ่งที่มาแล้วก็ต้องกลับไป แต่ใครจะไปคิดล่ะครับว่าพี่น้องชาวเขมราฐจะเต็มไปด้วยความน่ารัก รอยยิ้มที่แสนสดใส และภาษาถิ่นที่ทำให้ผมหลงใหลไม่รู้จบ เมื่อผมเงยขึ้นไปมองตรงหน้า แม่น้ำขนาดใหญ่สุดลูกหูลูกตานั้น คงจะเป็นแม่น้ำโขงอย่างแน่นอน ไอเย็นปะทะเข้าที่หน้าผม ช่างคืนความสดชื่นระหว่างเดินชมตลาดได้อย่างดีเยี่ยมจริงๆเลยครับ
สายหน่อย ผู้คนเริ่มคึกคักขึ้นพ่อค้าแม่ขาย ต่างพากันหอบสินค้าพื้นถิ่นจากฝั่งของประเทศไทยและฝั่งประเทศลาวขึ้นมาขายกันหลากหลายชนิด เสียงเจื้อยแจ้วของพวกเขาทำให้ผมอดยิ้มตามไม่ได้จริงๆ การตลาดของที่นี่คงจะแข่งกันด้วยเสียง ช่างน่ารักจริงๆเลยครับ ผมเห็นแล้วก็อดไม่ได้ที่จะต้องเข้าไปพูดคุย และถามถึงสินค้าที่ขายอยู่ด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม
ผมก้มลงไปนั่งยองๆตรงหน้าแม่ค้า เอื้อมมือไปจับเห็ดที่วางอยู่บนผ้าใบ เหมือนคนขายจะอึ้งๆอยู่นะครับว่าผมนั่งลงมาทำอะไร เห็ดรูปทรงแปลกตาตรงหน้าทำให้ผมอดที่จะถามด้วยความตื่นเต้นไม่ได้จริงๆ ว่ามันคือเห็ดชนิดไหนกันแน่ ทำคนกรุงงงไปเสียหมด จนได้ความกลับมาว่าเห็ดที่เราเห็นอยู่นี้คือ เห็ดปลวก เห็ดเผาะ เห็ดขอน เห็ดโคน
ชาวบ้านต้องตื่นกันตั้งแต่เช้าเพื่อไปเก็บมาวางขาย แถมยังทิ้งท้ายบอกผมอีกว่าคุณแก่ต้องลองซื้อไปทำกินดู กินกับอะไรก็อร่อย เป็นกับแกล้มได้ อร่อยไปหมดเลยทุกอย่าง “ลองสักตะกร้าไหมจ๊ะ ถูกๆเลยจ้า” จะเรียกว่าอยากลองก็ได้ครับ ไม่รอช้าผมรีบซื้อเห็ดกลับไปทำอาหาร เช่น ผัดน้ำมันหอยเห็ดขอน ต้มยำเห็ดโคน พร้อมใส่พริกเพิ่มความแซ่บที่ได้มาจากตลาดในราคา 10 บาทเพียงเท่านั้น โอ้โห!! ไม่น่าเชื่อว่าราคาถูกและสดใหม่แบบนี้ยังมีอยู่จริง เอาล่ะ! ของกินเต็มไม้เต็มมือไปหมด เปลี่ยนสถานที่กันซะหน่อยดีกว่าครับ ซึ่งที่ต่อไปคือ “ถนนคนเดินเขมราฐ” บรรยากาศตรงหน้าที่เห็นอยู่ตอนนี้คือ ความเงียบ สงบ ผู้คนยังไม่ค่อยพลุกพล่าน ทำให้ผมมีเวลามากพอ ที่จะเดินมองวัฒนธรรมริมทางได้อย่างอิ่มเอมใจ ผู้คนที่นี่เขาน่ารักดีนะครับ ไม่ละทิ้งขนมธรรมเนียมไทย ผู้คนตื่นเช้าพากันออกมาตักบาตร ทำหน้าที่ชาวพุทธที่ดี ว่าไปแล้วผมต้องขอตัวไปเตรียมของเพื่อมาตักบาตรบ้างดีกว่าครับ ว่ากันว่าเริ่มต้นเช้าวันใหม่ด้วยสิ่งดีๆ พร้อมกับสถานที่ใหม่ จะทำให้วันนั้นเรามีความสุขไปทั้งวัน ไม่เชื่อต้องลองมาสัมผัสด้วยหัวใจของทุกคนเองครับ แล้วจะรู้ว่าไม่มีอะไรดีไปกว่าการที่เราได้พาตัวเองหลบหลีกออกมาจากความวุ่นวายถ้าเปรียบเขมราฐเป็นพลังงาน ก็คงจะเป็นแบตเตอรี่ที่หยิบมาใช้บ่อยเท่าไหร่ ก็คงจะไม่มีวันหมดไป เพราะที่นี่ได้มอบพลังงานกาย พลังงานใจใหม่ๆให้กับผม จนแบตเตอรี่เกินลิมิต 100 เปอร์เซ็นไปเป็นที่เรียบร้อย
หากคุณอยากสัมผัสกับเสน่ห์ของเขมราฐให้เต็มที่ อย่าลืมนะครับต้องไปชมบ้านเรือนเก่าแก่ในเขตเมืองเก่าเขมราฐ ทั้งสองฟากฝั่งถนนจะเต็มไปด้วยบ้านเรือนเก่าๆที่สร้างขึ้นด้วยไม้ทั้งหลัง นักท่องเที่ยวสามารถที่จะเดินถ่ายรูปได้ตลอดทั้งแนวถนน ซึ่งมีจุดห้ามพลาดคือ "โรงแรมสุขสงวน บ้านขุนภูรีประศาสน์" โดยปัจจุบันโรงแรมสุขสงวนผันตัวมาเป็นพิพิธภัณฑ์ ให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชม
เราเดินกันมาทั้งวันแล้วนะครับผมคิดว่าน่าจะมีหลายคนสงสัยว่า เอ๊ะ! ทำไมไม่เห็นมีอาหารการกินออกมาบ้างเลย ทั้งที่ก็มาถึงจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว ไปครับๆ เดี๋ยวผมจะพาทุกคนมาลองรับประทานอาหารสุดแสนอร่อยที่ "ร้านแลโขง" บรรยากาศที่นี่ถือเป็นความสุดยอด ทิวทัศน์โดยรอบเป็นวิวแม่น้ำโขง อดไม่ได้ที่จะปล่อยหัวใจให้ล่องลอยไปตามความทอดยาวนี้
ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวของอำเภอเขมราฐที่อยากแนะนำให้หลายๆคนไปคือ “ภูอ่าง”ที่เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติของอำเภอเขมราฐที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของบ้านหลักเขตหมู่ที่ 9 ตำบลหนองนกทา อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานีซึ่งในทุกๆช่วงหน้าฝน คือ ประมาณกลางเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนตุลาคมซึ่งภูอ่างจะน่าเที่ยวมากกว่าฤดูกาลไหนๆ
ภูมิทัศน์ของภูอ่างเป็นภูหินที่มีหลุมกลมกระจายไปทั่วทั้งด้านบนและด้านล่างของภูอ่างบางหลุมมีขนาดใหญ่ลึก2-3เมตร ในหน้าฝนในหลุมจะมีน้ำอยู่เต็มด้านบนภูอ่างเป็นสำนักสงฆ์มีป่าธรรมชาติหลุมถ้ำ และจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกที่สวยงามมากแห่งหนึ่งของอำเภอเขมราฐ
ทั้งนี้ผมยังมีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อมาแนะนำให้ให้รู้อีกที่หนึ่งนั่นก็คือ แก่งช้างหมอบเป็นแก่งน้ำสลับโขดหิน และต้นแซงซุมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แก่งช้างหมอบแห่งนี้เป็นแก่งน้ำในลำน้ำโขงที่อยู่ห่างจาก อ.เขมราฐ ไม่ไกลนักนอกจากนี้ยังมีเกาะกลางลำน้ำขนาดใหญ่ซึ่งเป็นที่ตั้งของฟอสซิลช้างที่เป็นตำนานของแก่งช้างหมอบซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าภายใต้โขดหินนี้จะยังคงมีฟอสซิลหลงเหลืออยู่ซึ่งถือเป็นจุดเด่นสำคัญของความสวยงามแห่งนี้