Search and share travel destinations and experiences in Thailand Sign up Log in
 
วัดอุโมงค์ สวนพุทธธรรม กับวันสบายๆ ในร่มกายรื่นใจสถาน วัดอุโมงค์/สวนพุทธธรรม (Wat Umong) จ.เชียงใหม่
    • Posts-1
    theTripPacker •  October 22 , 2013

    วัดอุโมงค์ สวนพุทธธรรม กับวันสบายๆ ในร่มกายรื่นใจสถาน

    สำหรับใครหลายคนที่อาศัยในเมืองใหญ่มาเป็นเวลานาน เมื่อมีจังหวะเวลาเหมาะๆ คงเกิดความรู้สึกอยากผ่อนคลายกับเรื่องราวที่ดูวุ่นวายในชีวิตประจำวัน บางคนให้ทะเลสีครามใสคอยเป็นตัวช่วย หรือมีไม่น้อยที่อาศัยการสูดไอหมอกฤดูหนาวบนภูเขาสูงเป็นการชาร์ตพลังงานให้ ตัวเอง และบ้างบางคนชื่นชอบในการเสาะหาของอร่อยรับประทาน และรวมถึงวิธีการอื่นๆ อีกมากมาย แต่วันนี้เราจะพาไปสัมผัสความสงบร่มรื่นกันยัง วัดอุโมงค์ สวนพุทธธรรม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งรับรองได้เลยว่าบรรยากาศในส่วนต่างๆ ของวัดจะทำให้รู้สึกเย็นกายสบายใจขึ้นมาอย่างแน่นอน

    ความพิเศษของวัดแห่งนี้มีความแตกต่างจากวัดอื่นทั่วไปก็ตรงที่มีอุโมงค์ตรง ตามชื่อของวัด ซึ่งสาเหตุที่มีการสร้างในรูปแบบเช่นนี้ก็เนื่องมาจากความเลื่อมใสของพระเจ้ากือนาธรรมมิกราช ที่ทรงมีความเลื่อมใสต่อพระมหาเถรจันทร์ ผู้ ซึ่งเชี่ยวชาญในพระตรัยปิฎก จึงโปรดให้สร้างอุโมงค์ขึ้นเพื่อให้พระรูปนี้ใช้เป็นสถานที่ในการวิปัสสนา กรรมฐาน ชื่อจึงเปลี่ยนจากเดิมคือวัดเวฬุกัฏฐาราม มาเป็นวัดอุโมงค์ และในส่วนต่อท้ายชื่อที่ว่า สวนพุทธธรรม นั้นก็มาจากพระปัญญานันทภิกขุ เป็นผู้ตั้งให้เพื่อใช้เรียกป่าผืนใหญ่ที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงโดยรอบ ซึ่งกินเนื้อที่ประมาณ 150 ไร่

    • Posts-2
    theTripPacker •  October 22, 2013
    • Posts-3
    theTripPacker •  October 22 , 2013

    ทุกวันนี้นอกจากที่นี่จะเป็นสถานปฏิบัติธรรมของผู้ที่สนใจทั่วไปแล้ว ยังถือเป็นสถานที่หย่อนใจของใครอีกหลายๆ คนที่ชื่นชอบบรรยากาศสงบร่มเย็น เพราะตั้งแต่เมื่อคุณก้าวเข้ามายังเขตรั้วของวัด บรรดาต้นไม้น้อยใหญ่ต่างก็ทำหน้าที่ให้ร่มเงากับผู้มาเยือนอย่างเป็นมิตร กระทั่งเมื่อเดินเข้ามาข้างในอีกซักหน่อยก็จะพบกับหอสมุดธรรมโฆษณ์ ซึ่งด้านในอัดแน่นไปด้วยหนังสือมากสาระ ถัดไปจากจุดนี้ไม่ไกลก็จะพบกับ เสาหินขนาดใหญ่อยู่หน้าอนุสาวรีย์ของหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ เรียกว่า เสาอโศก ซึ่งสร้างจำลองขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์อันแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของพระพุทธ ศาสนาในครั้งอดีต รวมถึงยังเป็นการรำลึกถึงพระเจ้าอโศกมหาราชผู้ทรงเผยแผ่ศาสนาพุทธที่ยิ่ง ใหญ่ของโลก และบริเวณเดียวกันนั้นยังสามารถพบร่องรอยของพระพุทธรูปโบราณเก่าแก่จำนวนมาก ที่แม้บางส่วนจะอยู่ในสภาพชำรุดผุพัง และถูกมอสส์สีเขียวเกาะจนแทบจะมองไม่เห็นเนื้อเดิมขององค์พระ แต่กลับให้ความงดงามไปอีกรูปแบบหนึ่ง


    • Posts-4
    theTripPacker •  October 22 , 2013

    กระทั่งเดินชมบรรยากาศด้านนอกได้ครู่ใหญ่คราวนี้ก็ได้เวลาที่จะเข้าไปเยี่ยม ชมภายในอุโมงค์กันแล้ว ซึ่งทั้งหมดถูกก่อด้วยอิฐมีทางเข้าหลักด้วยกันอยู่สามทาง ภายในสามารถเดินเชื่อมต่อถึงกันได้ ผนังอุโมงค์บางส่วนก็ยังคงปรากฏร่องรอยของภาพเขียนจางๆ รวมไปถึงพระพุทธรูปที่ประดิษฐานตามจุดต่างๆ อยู่เป็นระยะ แต่บางจุดมองแทบจะไม่เห็นเนื่องจากภายในอุโมงค์นั้นไม่มีแสงส่องถึงจึงทำให้ มืดอยู่พอสมควร ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นเรื่องของความชื้นย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ทว่าบางคนกลับติดใจเพราะเวลาเดินเที่ยวชมจะสัมผัสได้ถึงความเย็นที่มากระทบ ผิว แต่ถึงอย่างไรระหว่างที่เดินอยู่ภายในอุโมงค์ก็ควรใช้ความระมัดระวัง เนื่องจากไม่มีไฟส่องทางนั่นเอง จนเมื่อจุใจกับบรรยากาศข้างในนี้แล้วก็อย่าเพิ่งตบเท้าหันหลังกลับออกจากวัด ไป เพราะด้านบนของอุโมงค์ที่เพิ่งเดินชมมาเมื่อครู่เป็นที่ตั้งของเจดีย์  700 ปี โดยถ้าเดินออกมาจากอุโมงค์แล้วก็ให้เดินขึ้นบันไดพญานาคต่อขึ้นไป ก็จะพบกับเจดีย์ทรงระฆังกลม ตั้งอยู่อย่างโดดเด่น แล้วถ้ายังไม่จุใจหรือใครที่เริ่มเมื่อยล้าขึ้นมาก็สามารถไปนั่งพักผ่อนกัน ได้ที่ริมสระน้ำด้านหลังของวัดที่รายล้อมไปด้วยต้นไม้ที่กระจายตัวอยู่มาก มาย ซึ่งภาพที่เราเห็นที่บริเวณริมสระน้ำนี้ จะมีคนคอยแวะเวียนมาให้อาหารปลาและนกในบริเวณนี้เป็นจำนวนมาก และก่อนกลับบรรดาหนอนหนังสือสายธรรมะน่าจะถูกใจกับผลงานตีพิมพ์ของพระ อาจารย์ชื่อดังหลายท่านที่มีให้เลือกซื้อหาอ่านที่ร้านหนังสือบริเวณด้าน หน้าวัด เพื่อเป็นการเสริมสุขภาพจิต หรือจะให้เป็นของขวัญกับญาติผู้ใหญ่คนใกล้ชิดก็ดีไม่น้อย


    • Posts-5
    theTripPacker •  October 22, 2013
    • Posts-6
    theTripPacker •  October 22 , 2013

    ส่วนใครที่กำลังหาสถานที่หย่อนใจแบบเงียบสงบแถมบรรยากาศร่มรื่นที่นี่ก็ เหมาะเป็นอย่างยิ่ง เพราะเราเชื่อแน่ว่าความสุขที่ได้คืนมาท่ามกลางความวุ่นวายของโลกที่หมุน เร็วกว่าใจคงจะช่วยให้เกิดความรื่นรมย์ที่แม้จะเล็กน้อยแต่กลับมากความสำคัญ อย่างยิ่งยวดเลยทีเดียว

    • Posts-7
    theTripPacker •  October 22 , 2013

    Note

    - ผู้ที่สนใจเข้าเที่ยวชมหรือต้องการเข้าปฏิบัติธรรมสามารถสอบถาม โทร.053 811 100

    - ภายในวัดอุโมงค์ได้เปิดสถานที่ให้ความรู้ เช่น โรงภาพปริศนาธรรม พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติฯ และหอสมุดธรรมโฆษณ์ ไว้ให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าไปศึกษาหาความรู้

    - ภาพฝาผนังภายในอุโมงค์ไม่ควรถ่ายภาพด้วยแฟลช และไม่ควรสัมผัสภาพฝาผนังเหล่านี้ เพราะอาจทำให้เกิดความเสียหายได้ 

    • Posts-8
    theTripPacker •  October 22, 2013

    ความคิดเห็นของผู้เขียน

    • Strong point:
    • อุโมงค์ที่ตั้งอยู่กลางวัดซึ่งหาที่ใดเหมือนไม่ อีกทั้งบรรยากาศที่เงียบสงบและร่มรื่นนี่เองจึงเป็นสถานที่ที่เหมาะแก่การพักผ่อนเพื่อสงบจิตสงบใจ รวมถึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการมาปฏิบัติธรรมมาก
    • Weak point:
    • แท่นบูชาพระภายในอุโมงค์มีการจุดธูปอยู่เกือบจะตลอดเวลา ทำให้ควันธูปอบอวลในนั้น ซึ่งอาจจะทำให้หายใจขัดหรือแสบตาแสบจมูกได้ นอกจากนี้ทางเดินภายในอุโมงค์บางช่วงยังค่อนข้างมืด ต้องเดินด้วยความระมัดระวัง
    • Conclusion:
    • ใครที่อยากสงบจิตสงบใจหลีกหนีจากเรื่องวุ่นวายในเมืองใหญ่หรือในชีวิตประจำวัน วัดอุโมงค์แห่งนี้ถือว่าเหมาะเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ก็ด้วยความเงียบสงบและร่มรื่นซึ่งแทบจะไม่เชื่อว่าจะมีสถานที่เช่นนี้ท่ามกลางเมืองเชียงใหม่
    Score
    • Posts-9
    theTripPacker •  October 22 , 2013

    ข้อมูลทั่วไป

    ที่อยู่ : 135 หมู่ 10 ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200

    GPS : 18.783683, 98.953483

    เบอร์ติดต่อ : 053-810965, 053-811100

    E-mail : webmaster@watumong.org

    Website : http://www.watumong.org/

    เวลาทำการ : ประมาณ 07.00 น. – ประมาณ 17.30 น.

    ช่วงเวลาแนะนำ : ตลอดทุกช่วงวัน

    ไฮไลท์ : อุโมงค์ภายในวัดซึ่งเชื่อมถึงกันได้ภายใน และผนังภายในยังมีภาพเขียนโบราณหลงเหลือไว้ให้ชื่นชมอยู่

    กิจกรรม : พักผ่อนด้วยการปฏิบัติธรรม และเที่ยวชมความงามของวัด

    • Posts-10
    theTripPacker •  October 22 , 2013

    วิธีการเดินทาง

    ถ้ามาจากถนนเส้นรอบคูเมืองให้มุ่งหน้าไปทางหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วยถนน สุเทพ แล้วให้เลี้ยวซ้ายเข้า ซอยวัดอุโมงค์ ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไปตามทางหลักจนสุดแล้วเลี้ยวซ้าย วิ่งต่อไปอีกซักระยะก็จะพบวัดอุโมงค์อยู่ทางขวามือ


  1. View more