วัดถ้ำพระโพธิสัตว์ ชมภาพสลักศิลปะ ศึกษาธรรมะในวัดสายวิปัศนา
ในจังหวัดสระบุรี มีวัดวาอารามที่น่าสนใจอยู่หลายแห่งด้วยกัน ครั้งนี้เราอยู่ในเขตอำเภอแก่งคอย เพื่อมุ่งหน้าสู่ “วัดถ้ำพระโพธิสัตว์” วัดสายวิปัสสนาธรรมที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางหุบเขา รายล้อมไปด้วยความเงียบสงบสมกับเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งแน่นอนว่านอกจากธรรมชาติที่ร่มรื่นภายในบริเวณวัดแล้ว วัดถ้ำพระโพธิสัตว์แห่งนี้มีความน่าสนใจอื่นๆ อีกมากมายให้เราได้เที่ยวไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้ธรรมะให้แตกฉานมากยิ่งขึ้น
ด้วยความที่วัดถ้ำพระโพธิสัตว์มีบริเวณวัดอยู่ในเขาน้ำพุ จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “วัดเขาน้ำพุ” หรือ “ถ้ำพระงาม” เนื่องจากลักษณะที่โดดเด่นของถ้ำหินขนาดเล็กและใหญ่บนเขาน้ำพุ ซึ่งมีความสวยงามของหินงอกหินย้อย และลักษณะถ้ำที่แปลกตา ทำให้เราอยากจะมาชมให้เห็นด้วยตาตัวเองซักครั้ง แต่ก่อนที่จะขึ้นไปชมภายในถ้ำ เราของชมความสวยงามของศาลาธรรมเจดีย์บริเวณเชิงเขาน้ำพุกันเสียก่อน ซึ่งศาลาธรรมเจดีย์องค์นี้โดดเด่นด้วยลักษณะเจดีย์ทรงลังกา สีขาวสะอาดตาแซมด้วยสีทองที่ช่วยขับเน้นให้เจดีย์องค์นี้สง่างามท่ามกลางป่าเขียวชอุ่ม บริเวณบันไดทางขึ้นถูกตกแต่งด้วยรูปปั้นนาคราช ซึ่งมีท่อนบนเป็นเทวดา ส่วนท่อนล่างเป็นหางนาคขนานไปตลอดเส้นทางขึ้นสู่ภายในองค์เจดีย์ แต่ด้วยความที่เราไปตรงกับเวลาทำวัดจึงพลาดโอกาสเข้าชมภายในองค์พระเจดีย์ไปอย่างน่าเสียดาย เราจึงเบนเป้าหมายไปที่การเที่ยวชมภายในถ้ำแทนทันทีเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา
อย่างที่บอกไปแล้วว่า ภายในวัดมีด้วยกันอยู่หลายถ้ำ ซึ่งถ้ำที่น่าสนใจที่สุดก็คือ “ถ้ำพระโพธิสัตว์” ตามชื่อวัดนั่นแหละครับ ถ้าคนที่คุ้นเคยกับการเที่ยวถ้ำอยู่แล้วก็คงจะทราบกันดีว่า เราจะต้องออกแรงเดินขึ้นบันได หรือปีนป่ายขึ้นไปบนเขาเพื่อไปให้ถึงปากทางเข้าถ้ำ สำหรับทางขึ้นถ้ำพระโพธิสัตว์นี้จัดว่าสะดวกอยู่พอสมควร เพราะมีขึ้นบันไดพร้อมราวจับไปตลอดทาง ติดขัดอยู่นิดหน่อยก็ที่ความชันนี่แหละที่ทำให้เป็นข้อจำกัดของคนสูงวัย รวมไปถึงคนที่ไขข้อไม่ค่อยอำนวย เพราะกว่าจะเดินไปถึงปากทางเข้าได้ก็เล่นเอาเหนื่อยหอบสูดลมหายใจกันจมูกบานเลยทีเดียว ทางเข้าถ้ำเป็นทางแคบๆ เมื่อเข้าไปแล้วจะพบกับเจดีย์ปิดทองตั้งอยู่บนฐานหินขัดสวยงาม ซึ่งบริเวณนี้ของถ้ำเป็นส่วนที่มีแสงสว่างส่องถึงมากที่สุด เมื่อแหงนหน้ามองขึ้นไปที่ผนังถ้ำด้านบนสูงจากพื้นประมาณ 3-5 เมตร เราจะพบเห็นภาพสลักนูนต่ำรูปบุคคลในอิริยาบถต่างกัน ซึ่งเป็นลวดลายศิลปะสมัยทวาราวดี ช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 สันนิษฐานกันว่า น่าจะเป็นภาพตอนที่บรรดาเทพกำลังเฝ้าทูลอาราธนาให้พระพุทธเจ้าแสดงะรรมเพื่อโปรดสรรพสัตว์ในโลก เมื่อทรงแสดงธรรมก็มีทั้ง เทพเจ้า มนุษย์ อสูร และคนธรรพ์มาเฝ้าเพื่อสดับธรรม ดังที่ปรากฏอยู่ในลลิตวิสตระ อันเป็นคัมภีร์แสดงพุทธประวัติฝ่ายมหายานนั่นเอง นอกจากภาพสลักบนผนังถ้ำแล้ว ภายในถ้ำยังมีหินงอก หินย้อย รูปร่างต่างๆ อีกมากมาย และเคยมีนักโบราณคดีสันนิษฐานว่า ถ้ำนี้น่าจะถูกใช้เป็นที่จำศีลภาวนาของนักบวชและฤาษีมาก่อน