เจดีย์เจ็ดยอด เป็นโบราณสถานที่สำคัญที่สุดของวัด เชื่อว่าถ่ายแบบมาจากมหาโพธิเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย สร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ 19-20 เมื่อ พ.ศ.2020 พระเจ้าติโลกราชโปรดฯ ให้จัดการประชุมพระเถรานุเถระทั่วทุกหัวเมืองในอาจักรล้านนา และทรงคัดเลือกได้พระธรรมทิณ เจ้าอาวาสวัดป่าตาล ผู้จัดเจนในพระบาลีเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พระองค์ทรงเป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์ ทำการสังคายนาพระไตรปิฎก ณ วัดนี้ใช้เวลาปีหนึ่ง จึงสำเร็จ เป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งใหญ่ลำดับที่ 8 โดยทำมาแล้วทั้งในอินเดียและศรีลังการวมเจ็ดครั้ง และเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
ลายปูนปั้น บนผนังด้านนอกองค์เจดีย์เจ็ดยอดมีงานประติมากรรมปูนปั้น เป็นภาพเทพยดานั่งขัดสมาธิเพชร ประนมหัตถ์อยู่กลางพระอุระ กับภาพเทพดาพนมมือยืน ทรงเครื่องภษาภรณ์ อันเป็นสมัยนิยมในหมู่ชนชั้นสูงสมัยโบราณ สวมเครื่องศิราภรณ์ทรงเทริด มีทั้งแบบทรงสูงและทรงเตี้ย สังเกตบนยอดศิราภรณ์ประดิษฐ์ด้วยลายวิจิตรแตกต่างกันไปในแต่ละองค์ เช่น ลายกระจับ ลายดอกบัว ลายหน้ากาล ลายดอกไม้ ฯลฯ เป็นที่น่าชมยิ่ง บนพื้นผนังเป็นลายดอกไม้ร่วงคล้ายลายถ้วยชามสมัย ราชวงศ์เหม็งของจีน นอกจากนี้ยังมีลายประดับหัวเสาซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของล้านนา แม้พม่ายังรับเอาไปและเรียกกว่า “ลายเชียงใหม่”