วัดพระธาตุดอยสุเทพ พุทธเอกลักษณ์แห่งดินแดนล้านนา
หากใครที่มีโอกาสมาเยือนจังหวัดเชียงใหม่แล้วไม่ได้กินข้าวซอย ไม่ได้ขึ้นดอยสุเทพ ก็คงตรงกับคำเปรียบเปรยที่มาว่ามาไม่ถึงอย่างไรอย่างนั้น ทว่าก่อนหน้านี้เราก็เคยแนะนำร้านข้าวซอยรสชาติเด็ดดวงกันมาบ้างแล้ว ถึงคราวนี้ก็เป็นคิวของวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองซึ่งมากด้วยความงดงามในแบบล้านนาอย่าง วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ศาสน สถานที่มีความสำคัญเรื่อยมาตั้งแต่ครั้งอาณาจักรล้านนาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน ด้วยระยะทางเพียง10 กิโลเมตรจากตัวเมืองเชียงใหม่ กับเส้นทางอันคดเคี้ยวที่ไต่ระดับความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนมาหยุดอยู่ที่ระดับ 1,053 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และตอนนี้ก็ได้เวลาเตรียมกายสำรวมใจพร้อมเข้าไปนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้าน ในกันแล้ว
วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ถือเป็นวัดอารารามหลวงชั้นโท สร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 บนยอดเขาดอยสุเทพ สมัยพญากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งอาณาจักรล้านนา ของราชวงศ์เม็งราย โดยพระองค์ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุองค์ใหญ่ซึ่งพระองค์ทรงเก็บไว้บูชา ส่วนพระองค์มายาวนานถึง 13 ปี มาบรรจุยังจุดที่ตั้งวัดในปัจจุบัน ทั้งนี้พระองค์ทรงเสี่ยงช้างมงคลเพื่อเป็นการทำนายสถานที่ประดิษฐานพระบรม สารีริกธาตุด้วยการให้ช้างเดินไป แล้วเมื่อไหร่ที่มันหยุดลงพระองค์ก็จะทรงใช้พื้นที่บริเวณนั้นเป็นที่บรรจุ กระนั้นเมื่อช้างเดินมาถึงยอดดอยสุเทพมันก็ร้องและล้มตัวลง พระองค์จึงตัดสินใจใช้พื้นที่บริเวณนี้สร้างวัด เริ่มด้วยการขุดดินลึก 8 ศอก กว้าง 6 วา 3 ศอก พร้อมกับแท่นหินขนาดใหญ่อีก 6 แท่นนำมาวางเป็นรูปหีบในหลุมด้านล่าง ซึ่งเป็นจุดที่อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ จากนั้นได้สร้างเจดีย์ครอบไว้อีกชั้นหนึ่ง นี่เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงห้ามมิให้สตรีเข้ามายังบริเวณนี้ รวมไปถึงการให้ผู้ที่จะเข้าไปนมัสการถอดรองเท้าก่อน และทราบหรือไม่ว่าดอยสุเทพนี้ได้ชื่อมาจาก สุเทวฤาษี หรือฤาษีวาสุเทพ ผู้ซึ่งใช้เขาลูกนี้เป็นที่บำเพ็ญตะบะ จึงสามารถกล่าวได้ว่าดอยสุเทพนั้นมีที่มาจากชื่อฤาษีผู้นี้นี่เอง