ค้นหาและแบ่งปันประสบการณ์การท่องเที่ยวในไทย ลงทะเบียน เข้าสู่ระบบ
 
พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก เดินทางผ่านเวลาย้อนหาอดีตของชาวกรุง พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก (Bangkokian Museum) จ.กรุงเทพมหานคร
    • โพสต์-1
    theTripPacker •  พฤศจิกายน 07 , 2556

    พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก เดินทางผ่านเวลาย้อนหาอดีตของชาวกรุง

    พอถึงวันหยุดสุดสัปดาห์หรือมีวันว่างทีไร เชื่อว่าคนกรุงหลายๆ คนก็คงจะหนีไม่พ้นการไปเดินเที่ยวเล่นช๊อปปิ้งในห้างสรรพสินค้ากันให้ขวักไขว่ ด้วยเพราะความเจริญเข้ามายึดพื้นที่ในเมืองไว้เป็นส่วนใหญ่ อาคารตึกรามบ้านช่องก็ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย การจะหาบ้านสวน บ้านไม้ หรือพื้นที่สีเขียวในเมืองก็เริ่มจะยากขึ้นเต็มที คนเฒ่าคนแก่ก็คงจะนึกหวนหาอดีตครั้งเก่าก่อน ส่วนคนรุ่นใหม่ก็คงจะจินตนาการภาพกรุงเทพตอนปราศจากตึกสูงระฟ้าไม่ออกอีกเช่นกัน อย่ากระนั้นเลยเราขอพาทุกคนขยับเข้าไปให้ใกล้ชิดบรรยากาศเมื่อครั้งก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และให้ได้สัมผัสกับบรรยากาศของบ้านคนเมืองในอดีต เพื่อให้จินตนาการต่างๆ แจ่มชัดขึ้นกว่าเพียงเสียงคำบอกเล่าต่อๆ กันมา


    • โพสต์-2
    theTripPacker •  พฤศจิกายน 07 , 2556

    ใครจะเชื่อว่า ณ ใจกลางกรุงเทพมหานคร บนถนนเจริญกรุงซอย 43 แห่งนี้จะเป็นที่ตั้งของ “เรือนปั้นหยา” ที่มีอายุกกว่าร้อยปีของครอบครัวสุรวดี ซึ่งปัจจุบันอาจารย์วราพร สุรวดี ได้อุทิศบ้านและที่ดินทั้งหมดนี้จัดตั้งเป็น “พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก” เพื่อให้ประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจได้เข้ามาเที่ยวชมและเรียนรู้อดีตของชาวกรุง แทนการเก็บมรดกชิ้นนี้ไว้ชื่นชมแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น ทันทีที่ได้ก้าวผ่านรั้วประตูเข้ามา ความร่มรื่นจากต้นไม้ใหญ่ที่ยังคงยืนต้นมาอย่างยาวนานก็ทำให้เรารู้ได้ทันทีว่า เจ้าของบ้านยังคงดูแลรักษาสภาพแวดล้อมของบ้านไว้เป็นอย่างดี เริ่มจากส่วนจัดแสดงอาคารแรกคือ เรือนปั้นหยา ที่ห้องหับต่างๆ ยังคงถูกจัดวางเครื่องใช้ไว้เช่นเดิม เหมือนเมื่อครั้งยังใช้เป็นบ้านพำนักอาศัย ทั้งห้องรับประทานอาหาร ห้องรับแขก ห้องนอนใหญ่ ห้องแต่งตัว ห้องคุณยาย และห้องน้ำ ซึ่งข้าวของทุกชิ้นที่นำมาจัดแสดงนี้ล้วนแล้วแต่เป็นของที่ผ่านการใช้งานมาแล้วทุกชิ้น ไม่เหมือนกับพิพิธภัณฑ์ทอื่นที่เป็นการเก็บรวบรวมข้าวของจากหลายๆ ที่มาจัดแสดง แต่สำหรับที่บ้านชาวบางกอกแห่งนี้เปรียบได้กับพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต มีเรื่องราวของเจ้าบ้านให้ได้เล่าสู่กันฟัง แบ่งปันเรื่องราวดีๆ ของคนในยุคนั้นสู่คนรุ่นหลัง

    • โพสต์-3
    theTripPacker •  พฤศจิกายน 07, 2556
    • โพสต์-4
    theTripPacker •  พฤศจิกายน 07 , 2556

    ส่วนอาคารหลังที่ 2 นั้น เป็นเรือนไม้สองชั้นที่ปลูกบนที่ดินย่านทุ่งมหาเมฆ ซึ่งเดิมที นายแพทย์ฟรานซิส คริสเตียน (สามีคนแรกของคุณแม่อาจารย์วราพร) ท่านตั้งใจจะใช้เป็นคลินิครักษาผู้ป่วย แต่น่าเสียดายที่ท่านยังไม่ทันจะมีโอกาสได้ใช้ก่อนที่ท่านจะเสียชีวิตลงหลังจากที่มาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยเพียงไม่กี่ปี ต่อมาภายหลังได้มีการรื้อย้ายเรือนหลังนี้จากที่ดินเดิม นำมาปรุงขึ้นใหม่ให้เหมาะสมกับขนาดที่ดินในปัจจุบันและยังคงจัดวางเครื่องใช้และอุปกรณ์แพทย์ต่างๆ ไว้อย่างเดิม และแน่นอนว่าทั้งตำหรับตำรา และเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีในอดีตนั้นย่อมต่างจากที่ใช้อยู่กันในปัจจุบันแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแก้วทนไฟ ใบสั่งยา เข็มฉีดยา เครื่องชั่งน้ำหนักฯลฯ ที่ล้วนแล้วแต่แปลกตาทั้งสิ้น

    ถัดจากอาคารหลังที่ 2 เราก็ไปชมกันต่อที่อาคารหลังที่ 3 ซึ่งเป็นอาคารหลังใหม่ที่อยู่ติดกัน ภายในอาคารชั้นล่างได้จัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ตั้งแต่สมัยสงครามโลก ซึ่งเป็นช่วงที่มีชาวต่างชาติ ทั้งประเทศในแถบเอเชียและแถบตะวันตกเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้มีการหลั่งไหลของวัฒนธรรมข้ามชาติ และมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนกรุงอย่างค่อยเป็นค่อยไป สังเกตุได้จากอุปกรณ์เครื่องเรือน เสื้อผ้า เครื่องหอมน้ำปรุง กล่องขนมขบเคี้ยว และสินค้าต่างๆ ที่ได้รับความนิยมในสมัยนั้น ส่วนชั้นบนเป็นนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับภาพรวมของกรุงเทพในอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มคนชนชาติต่างๆ ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในเขตบางรักจนทำให้ย่านนี้ในอดีตถือเป็นถนนที่เจริญที่สุดสายหนึ่งของกรุงเทพก็ว่าได้ การจัดเนื้อหาในการนำเสนอของนิทรรศการนี้เป็นไปอย่างน่าสนใจ เราจะได้ทำความรู้จักกับชุมชนในท้องถิ่นบางรักมากยิ่งขึ้น และยังได้รับรู้ถึงประวัติความเป็นมาของบุคคลสำคัญในเขตนี้เพิ่มขึ้นด้วย

    • โพสต์-5
    theTripPacker •  พฤศจิกายน 07, 2556
    • โพสต์-6
    theTripPacker •  พฤศจิกายน 07 , 2556

    หลังจากที่เราเพลิดเพลินเดินทางย้อนเวลากลับไปในอดีตผ่านการชมข้าวของเครื่องใช้นานาชนิดในพิพิธภัณฑ์แล้ว เรายังไม่ลืมที่จะค่อยๆ เดินเล่นไปรอบๆ เพื่อซึมซับบรรยากาศบ้านไม้ในสวนไว้ให้เต็มอิ่ม หากไม่ได้ฟังคำบอกเล่าจากพี่ๆ อาสาสมัครเราแทบไม่อยากเชื่อเลยว่า บริเวณหน้าบ้านเคยเป็นคลองที่ใช้สัญจรกันมาก่อน ซึ่งร่องรอยเดียวที่ยังคงหลงเหลืออยู่นั่นก็คือ บ่อน้ำด้านหน้าบ้านที่ในอดีตเคยใช้เป็นที่จอดเทียบเรือนั่นเอง แต่ในปัจจุบันบ่อนี้ได้ก่อปูนกั้นไว้เป็นบ่อเลี้ยงปลาแทน หากจะบอกว่าความรู้สึกขณะเดินชมเรือนหลังต่างๆ นี้คล้ายกับการแอบเข้ามาในบ้านของคนอื่นขณะที่เจ้าบ้านไม่อยู่ก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะจนถึงปัจจุบันนี้อาจารย์วราพรก็ยังคงอาศัยอยู่ในเรือนไม้อีกหลังหนึ่งใกล้ๆ กันนี้ ซึ่งทั้งอาจารย์วราพรและพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกแห่งนี้ก็พร้อมจะเปิดบ้านต้อนรับทุกคนด้วยความอบอุ่นและพร้อมจะบอกเล่าเรื่องราวของชาวบางกอกให้ได้รับรู้กันแบบไม่เคยหวงแหน ทำให้ที่ดินเล็กๆ บนถนนเจริญกรุงใจกลางกรุงเทพมหานครแห่งนี้เป็นอีกหนึ่งความรื่นรมย์ที่เราอยากชวนให้ชาวกรุงได้แวะเวียนมาสัมผัสด้วยตนเองซักครั้ง

    • โพสต์-7
    theTripPacker •  พฤศจิกายน 07 , 2556

    Note

    - พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร” เขตบางรัก

    - เรือนปั้นหยา เป็นแบบบ้านที่ได้รับความนิยมในอดีต มีลักษณะเป็นเรือนไม้แบบยุโรปหลังคามุงกระเบื้อง ซึ่งเรือนหลังนี้สร้างขึ้นด้วยงบประมาณ 2,400 บาท ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่2

    - พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก เปิดทุกวันพุธ-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10.00-17.00 น. เปิดให้เข้าชมฟรี

    - ผู้เข้าชมสามารถถ่ายภาพภายในพิพิธภัณฑ์ได้ แต่ไม่แนะนำให้ใช้แฟลชและขาตั้งกล้อง 

    • โพสต์-8
    theTripPacker •  พฤศจิกายน 07, 2556

    Editor's Comment

    • จุดเด่น:
    • พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ให้บรรยากาศเหมือนบ้านพักที่อยู่อาศัยจริง เพราะข้าวของเครื่องใช้ที่จัดแสดงไว้ทุกชิ้น ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องใช้ของเจ้าบ้านตั้งแต่อดีต ซึ่งได้เก็บรักษาเครื่องเรือน เครื่องใช้ไว้เป็นอย่างดี ทำให้เราสามารถสัมผัสถึงบรรยากาศบ้านคนกรุงในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เป็นอย่างดี ซึ่งบริเวณโดยรอบของบ้านยังคงความร่มรื่นของต้นไม้ใหญ่ และบรรยากาศบ้านไม้ทรงปั้นหยาในอดีตไว้ครบถ้วน
    • จุดด้อย:
    • พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกไม่มีที่จอดรถ ดังนั้นการเดินทางโดยรถสาธารณะน่าจะสะดวกที่สุด แต่ถ้าหากต้องการนำรถยนต์ส่วนตัวมา สามารถจอดรถในซอยได้เช่นกัน นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังมีเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครประจำอยู่ค่อนข้างน้อย บางครั้งการที่ประตูด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ปิดเอาไว้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เปิดทำการ แต่เป็นไปด้วยสาเหตุของการรักษาความปลอดภัย เนื่องจากมีบุคลากรน้อยนั่นเอง
    • ข้อสรุป:
    • พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่คนกรุงเทพควรให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะเราจะได้เห็นและเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยได้อย่างชัดเจน ที่สำคัญพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังเปิดให้เข้าชมกันได้ฟรีๆ ซึ่งเหล่าอาสาสมัครทุกคนต่างก็ยินดีให้บริการนำชมบ้าน พร้อมบรรยายถึงความเป็นมาอย่างเป็นกันเอง แถมที่ตั้งยังอยู่ใจกลางกรุงเทพอย่างถนนเจริญกรุงซอย 43 สามารถเดินทางมาได้โดยง่าย เหมาะที่จะพาเด็กๆ มาซึมซับอดีตของคนกรุงเทพผ่านการเรียนรู้จากข้าวของเครื่องใช้ที่นำมาจัดแสดง มากกว่าที่จะพาเด็กๆ ไปเที่ยวเล่นตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป
    คะแนน
    • โพสต์-9
    theTripPacker •  พฤศจิกายน 07 , 2556

    ข้อมูลทั่วไป

    ที่อยู่ : 273 ซอยเจริญกรุง 43 ถนนเจริญกรุง เขตบางรัก กรุงเทพฯ

    GPS : 13.728387,100.518127

    เบอร์ติดต่อ : 02 233 7027, 02 231 6930

    E-mail : bkkfolk_museum@hotmail.co.th

    Website : http://www.bkkfolkmuseum.com/

    Facebook : http://th-th.facebook.com/BkkMuseum

    เวลาทำการ : วันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 10.00-17.00 น.

    ค่าธรรมเนียม : ฟรี

    ช่วงเวลาแนะนำ : ตลอดทั้งปี

    ไฮไลท์ : ข้าวของเครื่องใช้

    กิจกรรม : เดินเที่ยวชม เรียนรู้ประวัติความเป็นมาของชุมชน และวิถีชีวิตของชาวกรุงเทพในช่วงตั้งแต่รอยต่อของรัชกาลที่ 5-6 ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มมีชาวตะวันตกเข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยมาก

    • โพสต์-10
    theTripPacker •  พฤศจิกายน 07 , 2556

    วิธีการเดินทาง

    จากถนนสาทร หรือถนนสีลม ให้เลี้ยวเข้าสู่ถนนเจริญกรุง มุ่งหน้าสู่เยาวราช ซอยเจริญกรุง 43 อยู่ตรงข้ามกับไปรษณีย์กลาง ให้เลี้ยวขวาเข้าซอยเจริญกรุง 43 ไปประมาณ 300 เมตร จะเห็นพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกอยู่ทางด้านขวามือ

    หากเดินทางด้วยรถไฟฟ้า BTS ให้ลงสถานีสะพานตากสินหลังจากนั้นให้ต่อรถแท๊กซี่หรือตุ๊กตุ๊กไปยังซอยเจริญกรุง 43

    หรือให้ต่อรถเมล์สาย 1, 16, 35, 75 และ 93 มาลงที่บริเวณหน้าไปรษณีย์กลาง แล้วข้ามถนนเดินเข้าซอยเจริญกรุง 43 ไปอีกประมาณ 300 เมตร


  1. โหลดเพิ่ม